แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ท. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายหลังจากโจทก์สละมรดกแล้ว4วันจังเป็นการแสดงเจตนาสละมรดกที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1619การสละมรดกจึงไม่เกิดผลตามกฎหมายถือเท่ากับว่าไม่มีการสละมรดกโจทก์จึงยังคงมีสิทธิในทรัพย์มรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมและการที่โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินมรดกและไม่เคยติดใจเรียกร้องทรัพย์มรดกก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้ถือว่าเป็นการปิดปากและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์สละมรดกนั้นแล้ว เมื่อการสละมรดกโดยโจทก์ไม่เกิดผลตามกฎหมายโจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกอยู่การไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกโดยจำเลยตกลงรับสภาพหนี้ต่อธนาคารและผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารก็ปรากฎว่าโจทก์และน้องๆทุกคนก็ช่วยกันออกเงินคนละ20,000บาทให้จำเลยไปดำเนินการหาใช่เป็นเงินของจำเลยเพียงคนเดียวไม่อีกทั้งไม่ปรากฎว่ามีการตกลงกันระหว่างพี่น้องจำเลยให้จำเลยไปจัดการไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกแล้วจำเลยจะได้รับที่ดินมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมเป็นการตอบแทนที่ดินมรดกในส่วนดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกโดยโจทก์ฟ้องตั้งประเด็นว่าโจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมมีสิทธิรับมรดกจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบไม่ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1733วรรคสองได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า5ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงจึงจะนำอายุความ1ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754มาบังคับใช้กับกรณีนี้หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายทอน และนางลำใย เพ็ชรนิล เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530 นายทอน ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 341 ตำบลท่าฉนวนอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ให้แก่โจทก์จำนวน 5 ไร่ และกำหนดให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก หลังจากที่นายทอนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2534 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนแบ่งมรดกให้แก่ทายาททุกคนยกเว้นโจทก์ โดยจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยในฐานะส่วนตัว เป็นการไม่ชอบที่ดินพิพาทจำนวน 5 ไร่ ราคา 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไปขอเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 341ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นชื่อของจำเลยในฐานะส่วนตัวเสียแล้ว ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าวจำนวน 5 ไร่ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า โจทก์สละมรดกแล้วเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2531เนื่องจากนายทอนนำที่ดินพิพาทไปจำนองไว้แก่ธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขามโนรมย์ เป็นเงิน 80,000 บาทเมื่อปี 2524 แล้วนำเงินนั้นไปให้โจทก์แต่ผู้เดียว เมื่อนายทอนถึงแก่ความตาย โจทก์ไม่สามารถไถ่ถอนจำนอง จึงสละมรดกเพื่อให้นำที่ดินส่วนของโจทก์ไปขายนำเงินมาไถ่ถอนจำนอง แต่ไม่มีผู้ใดซื้อ ทายาททุกคนตกลงให้จำเลยเป็นผู้ไถ่ถอน จำเลยจึงไปรับสภาพหนี้ต่อธนาคารชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแก่ธนาคาร แล้วดำเนินการใส่ชื่อทายาทเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดตามพินัยกรรมแล้ว ยกเว้นส่วนของโจทก์ซึ่งตกเป็นของจำเลยตามข้อตกลงเข้าครอบครองทำประโยชน์มาโดยตลอดทายาททุกคนและโจทก์ทราบและไม่โต้แย้งคัดค้าน โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการใส่ชื่อโจทก์ร่วมในโฉนดที่ดินเลขที่ 341 ตำบลท่าฉนวนอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท โดยโจทก์ได้รับ 5 ไร่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายทอนและนายลำใย เพ็ชรนิลมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน นางลำใยถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว นายทอนทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองแบ่งที่ดินตามโฉนดเลขที่ 341 ตำบลท่าฉนวน อำเภอมโนรมย์จังหวัดชัยนาทซึ่งติดจำนองธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขามโนรมย์ให้แก่บุตรทุกคน โจทก์และจำเลยได้คนละ 5 ไร่ จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โจทก์ทำหนังสือสละมรดกตามเอกสารหมาย ล.9 ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทอน ได้จัดการมรดกโดยจดทะเบียนรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 341 โดยใส่ชื่อจำเลยและพี่น้อง มีนายสุทิน นายสุเทพ และนายไพฑูรย์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ไม่ได้ใส่ชื่อโจทก์ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์สละมรดกแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายทอน ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่8 มกราคม 2531 หลังจากโจทก์สละมรดกตามเอกสารหมาย ล.9 แล้ว 4 วันซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1619 บัญญัติว่า ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใดซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อการแสดงเจตนาสละมรดกฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าว การสละมรดกจึงไม่เกิดผลตามกฎหมายแต่อย่างใด ถือเท่ากับว่าไม่มีการสละมรดกโจทก์จึงยังคงมีสิทธิในทรัพย์มรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรม ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินมรดกและไม่เคยติดใจเรียกร้องทรัพย์มรดก จึงถือว่าเป็นการปิดปากและเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์สละมรดกแล้วนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวของจำเลย
ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิรับมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมหรือไม่จำเลยนำสืบว่า เนื่องจากที่ดินมรดกติดจำนองธนาคารสหธนาคาร จำกัดสาขามโนรมย์ จึงมีการตกลงกันระหว่างพี่น้องจำเลย ให้จำเลยไปจัดการไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 80,000 บาทเศษ จำเลยตกลงไปรับสภาพหนี้ต่อธนาคารและผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารจนครบถ้วนหากจำเลยไม่ได้รับที่ดินมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมแล้ว จำเลยก็คงจะไม่ยอมไปไถ่ถอนจำนอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยมาแล้วว่าการสละมรดกโดยโจทก์ไม่เกิดผลตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จึงยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกอยู่การไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกโดยจำเลยตกลงรับสภาพหนี้ต่อธนาคารและผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร ก็ได้ความว่าโจทก์และน้อง ๆทุกคนก็ช่วยกันออกเงินคนละ 20,000 บาท ให้จำเลยไปดำเนินการหาใช่เป็นเงินของจำเลยเพียงคนเดียวไม่ ที่จำเลยฎีกาทำนองว่านายสุเทพเบิกความเข้ากับโจทก์ในข้อที่ว่าโจทก์และน้อง ๆ ทุกคนให้เงินจำเลยไปคนละ 20,000 บาท ด้วยเหตุนายสุเทพมีความโลภและริษยาจำเลยที่ได้รับที่ดินมรดกในส่วนที่พิพากษาจะพึงได้รับคำเบิกความของนายสุเทพจึงรับฟังเป็นความจริงไม่ได้นั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าไม่มีการตกลงกันระหว่างพี่น้องจำเลยให้จำเลยไปจัดการไถ่ถอนจำนองที่ดินมรดกแล้วจำเลยจะได้รับที่ดินมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับตามพินัยกรรมเป็นการตอบแทน ที่ดินมรดกในส่วนดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
ปัญหาตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยครอบครองที่ดินมรดกในส่วนที่โจทก์จะพึงได้รับโดยครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเป็นขนาดเนื้อที่แน่นอน มิได้ครอบครองแทนทายาทอื่นโดยเฉพาะมิได้ครอบครองแทนโจทก์และมิได้ครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด จึงต้องนำอายุความ1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายมาใช้บังคับ เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่นายทอนตายฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกโดยโจทก์ฟ้องตั้งประเด็นว่าโจทก์เป็นทายาทโดยพินัยกรรมมีสิทธิรับมรดกที่ดินมรดก จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบไม่ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมรดกกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสองได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้นมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จึงจะนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1454 มาบังคับใช้กับกรณีนี้ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่
พิพากษายืน