คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1019/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเคยพิพาทกันเกี่ยวกับที่พิพาทชั้นศาล และทำสัญญายอมความกันให้กำนันไปปักหลักเขตแล้วครั้งหนึ่ง คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกที่พิพาทนั้นอีก โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทำคันนารุกล้ำจากหลักแนวเขตที่กำนันปักไว้ตามสัญญายอมเข้ามาในที่ดินของโจทก์มากขึ้นกว่าเดิม เป็นคนละประเด็นกับคดีก่อน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 5511 ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทิศเหนือติดที่ดินของจำเลย เมื่อเดือน 3 พ.ศ. 2507 จำเลยขุดบ่อรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และปักหลักเขตไว้กว้าง 8 ศอก ยาว 70 วา เนื้อที่ 1 งาน 50 ตารางวา ราคา 1,000 บาท ขอให้ขับไล่

จำเลยให้การว่าที่ดินโจทก์จำเลยมีคันนาและเสาไม้แก่นปักเป็นแนวเขต ไม่มีใครรุกล้ำซึ่งกันและกัน จำเลยครอบครองที่ดินดังกล่าวด้วยความสงบเปิดเผยมาเกินกว่า 10 ปี แม้บางส่วนจะอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์ จำเลยก็ครอบครองในฐานะเจ้าของเกิน 10 ปีแล้ว จึงตกเป็นของจำเลย จำเลยไม่เคยขุดบ่อหรือปักหลักรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จำเลยเคยชนะคดีโจทก์ตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 229-230/2506 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว โจทก์นำที่ดินนี้มาฟ้องอีก เป็นฟ้องซ้ำ

ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์จำเลยเคยพิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงนี้มาแล้ว ตามสำนวนคดีอาญาแดงที่ 1068/2504 และคดีแพ่งแดงที่ 229/2506 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามสำนวนคดีแพ่งแดงดังกล่าว โจทก์จำเลยทำสัญญายอมความกันและกำนันหล่อไปปักหลักเขตที่ดินให้ตามแนวเขตหลักไม้ไว้แล้วในสำนวนคดีอาญาแดงที่ 1068-1069/2504 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโจทก์จำเลยโต้แย้งกันว่า กำนันปักหลักเขตถูกต้องตามสัญญาหรือไม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยปักหลักเขตทำคันนารุกที่นาโจทก์ให้จำเลยรื้อหลักไม้ที่ปักรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าพันบาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ฟ้องซ้ำตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนมีว่า จำเลยได้ทำคันนารุกล้ำจากหลักแนวเขตที่กำนันหล่อปักไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในสำนวนคดีดังกล่าวเข้ามาในที่ดินของโจทก์มากขึ้นกว่าเดิมจึงเป็นคนละประเด็น ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

พิพากษายืน

Share