คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1672/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้าชนิดที่มีเครื่องหมายการค้ารายพิพาทแต่เมื่อโจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจากเจ้าของเดิมไว้พร้อมกับรับโอนกิจการค้าอื่นเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทนับแต่วันรับโอนมาและจดทะเบียนการรับโอนไว้แล้วโจทก์จึงมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการค้าและเสนอสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้ารายพิพาทตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 3,27
จำเลยสั่งเครื่องพิมพ์ที่มีเครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาขายในประเทศไทยก่อนโจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทและกิจการค้าเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาจากเจ้าของเดิมไม่ถือว่าจำเลยละเมิดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า บริษัทไฮเดลเบิร์กเกอร์ ดรุดมะส์ชิเน่น อัคเตียนเกเซลล์ชาฟท์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายพิพาท ซึ่งใช้สำหรับเครื่องพิมพ์ไฮเดลเบิร์กแต่บริษัทดังกล่าวไม่เคยมีกิจการค้าของตนเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ไฮเดลเบิร์กที่ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทในประเทศไทย ไม่ว่าในระยะใด เครื่องพิมพ์ที่จำเลยทั้งสี่สั่งเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรนั้น ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทที่แท้จริง มิใช่เครื่องหมายปลอมหรือเลียนแบบ โจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทพร้อมกับรับโอนกิจการค้าอันเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทจากบริษัทไฮเดลเบิร์กเกอร์ ดรุดมะส์ชิเน่นอัคเตียนเกเซลล์ชาฟท์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2517 (เอกสารหมาย จ.6) โจทก์ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการรับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาททั้งสองเครื่องหมายต่อนายทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2518 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งยืนยันการรับจดทะเบียน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 2 ที่ 3 สั่งเครื่องพิมพ์ไฮเดลเบิร์กเก่าที่ใช้แล้วมาขายในประเทศไทยก่อนโจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจากเจ้าของเดิม จำเลยที่ 1 สั่งเข้ามาขายตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 ศาลฎีกาเห็นพ้องตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้าชนิดที่มีเครื่องหมายการค้ารายพิพาท แต่เมื่อโจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทจากเจ้าของเดิมไว้พร้อมกับรับโอนกิจการค้าอื่นเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทนับแต่วันรับโอนมาและจดทะเบียนการรับโอนไว้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการค้าและเสนอขายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้ารายพิพาทตามความในมาตรา 3 ประกอบด้วยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ผู้ใดสั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายโดยโจทก์มิได้ยินยอม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสี่ละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยทั้งสี่สั่งเครื่องพิมพ์ที่มีเครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาขายในประเทศไทยก่อนที่โจทก์รับโอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาท และกิจการค้าเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาจากเจ้าของเดิมกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จำเลยทั้งสี่สั่งสินค้าดังกล่าวเข้ามาก่อนโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาท ดังนี้ยังเรียกไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ละเมิดสิทธิของโจทก์”

พิพากษายืน

Share