คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6868/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนมีการจดทะเบียนสมรสโจทก์ถูกจำเลยกับพวกใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้จำต้องนั่งรถยนต์ไปกับจำเลยจากจังหวัดสมุทรปราการไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีจำเลยกับพวกอย่างน้อย 2 คน คอยควบคุมตัวไว้มิให้หลบหนี ทั้งยังถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราระหว่างพักที่บ้านญาติจำเลยด้วย โจทก์ซึ่งเป็นหญิงคนเดียวอยู่ในกลุ่มพวกจำเลยย่อมต้องเกรงกลัวการบังคับและคำขู่ของจำเลยที่ว่าจะไม่พาโจทก์กลับบ้านจะทำร้ายร่างกายและพาโจทก์ไปอยู่ในป่าหากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย วิญญูชนที่ตกอยู่ในภาวะการณ์เช่นนี้ย่อมมีมูลต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายและเสรีภาพของตนหากไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำข่มขู่เช่นเดียวกับโจทก์ การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นโจทก์จะไม่ทำการสมรสกับจำเลย การสมรสจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ตามคำให้การจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างชัดแจ้งแต่อย่างใดเลยว่ามีการให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะ จำเลยให้การเพียงว่ามีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ตลอดจนตัวโจทก์ยอมให้อภัยในการกระทำของจำเลย รวมทั้งยอมถอนแจ้งความที่แจ้งไว้ยังสถานีตำรวจต่าง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณปลายเดือนมกราคม 2538จำเลยกับพวกรวม 6 คน ร่วมกันใช้กำลังและอาวุธปืนทำร้ายและฉุดโจทก์จากบริเวณท่าน้ำตลาดบางพลีนำไปกักขังไว้ที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นบ้านญาติของจำเลย แล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ต่อมาจำเลยพยายามเกลี่ยกล่อมให้โจทก์เป็นภริยาของจำเลยและข่มขู่ว่าหากไม่ยอมก็จะไม่ให้โจทก์กลับบ้านและจะทำร้ายให้เสียชีวิตหรือทำให้โจทก์หายสาบสูญไป แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยจึงเสนอเงื่อนไขให้โจทก์ยินยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยเพียงในนามเพื่อป้องกันมิให้โจทก์และบิดาโจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยภายหลัง เมื่อเรื่องเรียบร้อยแล้วจะหย่าให้ โจทก์กลัวจึงยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538ณ ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อโจทก์กลับบ้านแล้วจึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและติดต่อจำเลยเพื่อให้จดทะเบียนหย่าแต่ไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ขอให้พิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ (ที่ถูกคือโมฆียะ) และให้เพิกถอนการสมรส
จำเลยให้การว่า จำเลยกับโจทก์รักใคร่ชอบพอกันมาหลายปีแล้ว วันเกิดเหตุจำเลยพบกับโจทก์ที่ท่าน้ำตลาดบางพลี จำเลยขอให้โจทก์ไปคุยที่รถเพื่อนจำเลยแต่โจทก์มีญาติมาด้วยจึงไม่กล้า จำเลยจึงอุ้มโจทก์ไปขึ้นรถโดยมิได้ทำร้ายร่างกายขู่เข็ญหรือมีอาวุธใด ๆ ติดตัวไป หลังจากนั้นได้พาโจทก์ไปพักค้างคืนที่บ้านญาติของจำเลยที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วโจทก์จำเลยร่วมประเวณีกันด้วยความสมัครใจของโจทก์ ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538โจทก์จำเลยพร้อมด้วยกำนันและข้าราชการประจำกรมชลประทาน และญาติของจำเลยพาโจทก์ไปจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว โดยไม่ได้ข่มขู่หลอกลวงแต่อย่างใดหลังจากนั้นจำเลยไปขอขมาต่อบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ของโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ 100,000 บาทโจทก์ได้ให้อภัยจำเลยแล้ว การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์กลับจากบ้านจำเลยไปอยู่บ้านโจทก์ บิดามารดาและพี่น้องของโจทก์ไล่จำเลยไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับโจทก์อีก จากนั้นโจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบ่อเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จำเลยยังรักโจทก์ไม่ประสงค์จะจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามทะเบียนการสมรส สำนักทะเบียนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทราเลขทะเบียนที่ 55/7123 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นโมฆียะ ให้เพิกถอนการสมรส
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2538 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ขณะที่โจทก์และนางสาวบังอร แพรสุวรรณ พี่สาว กำลังจะเดินลงเรือข้ามฟากที่ท่าเรือบางพลีน้อย จำเลยกับพวกรวม 6 คน ใช้กำลังอุ้มโจทก์ขึ้นรถยนต์กระบะ แล้วนำตัวไปพักที่บ้านญาติของจำเลยที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทราขณะที่พักอยู่ด้วยกันจำเลยร่วมประเวณีกับโจทก์ 2 ครั้งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยกับญาติของจำเลยพาโจทก์ไปจดทะเบียนสมรสที่ที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ตามสำเนาทะเบียนการสมรสและใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย จ.1 และ ล.1 หลังจากนั้นจำเลยไปขอขมาบิดามารดาโจทก์ และมอบเงินให้ 100,000 บาท หลังจากขอขมาแล้วในวันรุ่งขึ้นบิดามารดาโจทก์ไปรับตัวโจทก์ที่บ้านของจำเลยกลับไป คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆียะเพราะถูกข่มขู่หรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยกับพวกรวม 6 คน ใช้อาวุธปืนสั้นขู่ไม่ให้โจทก์ขัดขืนพานั่งรถยนต์กระบะไปกักขังที่บ้านญาติของจำเลยที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจำเลยกับพวกอีก 2 คน คอยควบคุมตัวไว้ แม้ตอนไปอาบน้ำก็เฝ้ารออยู่หน้าห้องน้ำด้วย ในตอนกลางคืนจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ หลังจากนั้นมารดาและญาติของจำเลยมาขอให้โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเพื่อป้องกันมิให้บิดามารดาโจทก์เอาเรื่องกับจำเลย แต่โจทก์ไม่ยินยอม ขอให้พากลับบ้านและจะไม่เอาเรื่องจำเลยจึงขู่ว่าหากโจทก์ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย จำเลยจะไม่พาโจทก์กลับบ้าน จะทำร้ายร่างกายและพาไปอยู่ในป่า โจทก์กลัวจะถูกจำเลยกระทำตามที่จึงยอมนั่งรถยนต์ไปที่ว่าการอำเภอกับจำเลยและพวก เมื่อไปถึงโจทก์นั่งรออยู่ในรถพร้อมกับพวกของจำเลย ส่วนจำเลยและกำนันตำบลบางขนากขึ้นไปบนที่ว่าการอำเภอ ครู่หนึ่งมีเจ้าหน้าที่อำเภอซึ่งเป็นหญิงพร้อมกับจำเลยกับพวกลงมาจากที่ว่าการอำเภอนำสมุดมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ 2 ชื่อ หลังจากนั้นจำเลยพาโจทก์ไปรับประทานอาหารกับปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่อำเภอหญิงดังกล่าวและแจ้งว่าโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยแล้ว ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยมาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยกับพวกฉุดโจทก์ไปที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จำเลยร่วมประเวณีกับโจทก์ 2 ครั้ง โดยโจทก์ยินยอม หลังจากนั้นโจทก์ต้องการกลับบ้าน จำเลยบอกให้โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยก่อน โจทก์ตกลงและมอบบัตรประจำตัวประชาชนให้นายราเชนไปคัดสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ที่อำเภอบางบ่อเพื่อเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนสมรส ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538จำเลยกับโจทก์ไปที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวขึ้นไปที่ชั้นสองของที่ว่าการอำเภอปลัดอำเภอซึ่งทำหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสสอบถามโจทก์และจำเลยว่ามีคู่สมรสหรือจดทะเบียนสมรสกับผู้อื่นมาแล้วหรือไม่ โจทก์จำเลยตอบว่าไม่ จึงได้จดทะเบียนสมรสกันหลังจากนั้นจำเลยพาโจทก์กลับมาบ้านญาติของจำเลยแล้วติดต่อขอขมาบิดามารดาโจทก์ พร้อมจ่ายเงินค่าขมาเป็นเงิน 100,000 บาท ไปแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังมีนางธวิกา ศรีเจริญ เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอบางน้ำเปรี้ยวและนายประคอง เจษฎาคำ ปลัดอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสมรสมาเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์เต็มใจยินยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลยด้วย เห็นว่าก่อนมีการจดทะเบียนสมรสโจทก์ถูกจำเลยกับพวกใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้จำต้องนั่งรถยนต์ไปกับจำเลยจากจังหวัดสมุทรปราการไปยังจังหวัดฉะเชิงเทราโดยมีจำเลยกับพวกอย่างน้อย 2 คนคอยควบคุมตัวไว้มิให้หลบหนี ทั้งยังถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราระหว่างพักที่บ้านญาติจำเลยด้วย โจทก์ซึ่งเป็นหญิงคนเดียวอยู่ในกลุ่มพวกจำเลยย่อมมีความเกรงกลัวจำเลยเป็นปกติวิสัย หากโจทก์จำเลยรักใคร่ชอบพอกันฉันชู้สาวจนถึงขั้นจะสมรสกันก็สามารถไปจดทะเบียนสมรสที่จังหวัดสมุทรปราการได้โดยลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเพราะทั้งโจทก์และจำเลยต่างอายุ 25 ปีบรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยอ้างว่าจำเลยพาโจทก์ขึ้นไปบนชั้นสองของที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวเพื่อจดทะเบียนสมรส ปลัดอำเภอซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนสมรสได้สอบถามจำเลยและโจทก์เกี่ยวกับรายละเอียดและคุณสมบัติของคู่สมรส แต่นางธวิกาและนายประคองกลับเบิกความว่า ที่ทำการของบุคคลทั้งสองอยู่ชั้นล่างของที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว และนางธวิกาเป็นผู้สอบถามรายละเอียดและคุณสมบัติของโจทก์จำเลยแล้วบันทึกไว้เอง คำเบิกความของจำเลยกับพยานจำเลยดังกล่าวจึงแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะพาโจทก์เข้าไปในที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยวดังเบิกความ แต่น่าเชื่อตามคำเบิกความของโจทก์ที่ว่าโจทก์นั่งรออยู่ในรถยนต์พร้อมกับพวกของจำเลย ส่วนจำเลยกับกำนันตำบลบางขนากขึ้นไปติดต่อขอจดทะเบียนสมรสโดยลำพังแล้วนำเอกสารมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อในรถยนต์ที่จอดอยู่ด้านนอก พฤติการณ์ที่โจทก์ถูกจำเลยใช้กำลังข่มขู่บังคับให้จำต้องมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ตลอดเวลา12 วันและถูกล่วงละเมิดทางเพศ แม้ขณะจดทะเบียนสมรสก็ยังอยู่ในความควบคุมของจำเลยเช่นนี้ โจทก์เพียงลำพังย่อมต้องเกรงกลัวการบังคับและคำขู่ของจำเลยที่ว่าจะไม่พาโจทก์กลับบ้าน จะทำร้ายร่างกายและพาโจทก์ไปอยู่ในป่าหากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับจำเลย วิญญูชนที่ตกอยู่ในภาวะการณ์เช่นนี้ย่อมมีมูลต้องเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายและเสรีภาพของตนหากไม่ยินยอมปฏิบัติตนตามคำข่มขู่เช่นเดียวกับโจทก์ การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นโจทก์จะไม่ทำการสมรสกับจำเลยการสมรสจึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆียะเพราะถูกข่มขู่นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปคือ โจทก์ได้ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยไปขอขมาต่อบิดามารดาโจทก์และมอบเงินให้ 100,000 บาท บิดามารดาโจทก์และตัวโจทก์ไปถอนคำร้องทุกข์ไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาต่อจำเลยแล้ว จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่การสมรสที่เป็นโมฆียะมีผลทำให้การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 177 โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยได้อีก เห็นว่าตามคำให้การจำเลย จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้อย่างชัดแจ้งอย่างใดเลยว่ามีการให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะจำเลยให้การเพียงว่ามีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท และบิดามารดาโจทก์ตลอดจนตัวโจทก์ยอมให้อภัยในการกระทำของจำเลยรวมทั้งยอมถอนแจ้งความที่แจ้งไว้ยังสถานีตำรวจต่าง ๆ เท่านั้น ฉะนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ให้สัตยาบันการสมรสที่เป็นโมฆียะนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share