แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่มีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 เมื่อจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษดังกล่าวตามมาตรา 80 เท่ากับลดโทษลงมาหนึ่งในสามนั่นเอง ซึ่งคงเหลือเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามมาตรา 52(1) หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิง ท.แล้ว จำเลยได้ใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ของ ร.ขับหลบหนีไป แล้วนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร ไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์คือรถจักรยานยนต์นั้น คงมีเจตนาเพียงต้องการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อาวุธปืนข่มขืนใจ ร. ให้มอบรถจักรยานยนต์โดย ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามทางพิจารณาที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่น ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอมาท้ายฟ้องหรือขอแก้เพิ่มเติมฟ้องในเรื่องขอให้นับโทษต่อเสียก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพิ่งจะขอมาหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาและจำเลยฎีกาต่อมา จึงไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วได้ร่วมกันมีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .38 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับจำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน 6 นัดมีสภาพใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และจำเลยกับพวกโดยมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้าน อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายมณี มั่นคง ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรร่วมกันงัดประตูบ้านของผู้เสียหายที่ 1 จนได้รับความเสียหายอันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์ เพื่อเข้าไปลักเอาเครื่องรับวิทยุเทปซันโย1 เครื่อง ราคา 3,200 บาท และนาฬิกาแขวน 1 เรือน ราคา 850 บาทรวมราคาทรัพย์ 4,050 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยทุจริต จำเลยกับพวกได้ลงมือกระทำผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เนื่องจากมีผู้มาพบเห็นเหตุการณ์จำเลยกับพวกจึงพากันวิ่งหนี โดยใช้รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าคันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ฉ-5645เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและการพาทรัพย์นั้นไปหลังจากที่จำเลยกับพวกได้กระทำผิดดังกล่าวแล้วจำเลยกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยิงนายทวี มากเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายกระทำการตามหน้าที่เพื่อจะจับกุมจำเลยกับพวกในข้อหาบุกรุกและพยายามลักทรัพย์ข้างต้น จำนวน 3 นัดโดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายที่ 2 หลบเข้าที่กำบังกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 จึงได้ใช้อาวุธปืนยิงโต้ตอบป้องกันตัวไป 1 นัดถูกพวกของจำเลยถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยได้พาอาวุธปืนดังกล่าวพร้อมกระสุนปืนที่ยังไม่ได้ยิงหลบหนีไปแล้วจำเลยได้ทำการชิงทรัพย์เอารถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิคันหมายเลขทะเบียน พิษณุโลก จ-2989 ราคา 25,000 บาท ของนายเราะ มั่นคง ผู้เสียหายที่ 3 ไปโดยทุจริต โดยในการชิงทรัพย์ดังกล่าวจำเลยได้ใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญผู้เสียหายที่ 3 ว่า ในทันใดนั้นจะใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงฆ่าผู้เสียหายที่ 3 หากขัดขืนเพื่อให้ความสะดวกในการลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ซองพกปืน 1 ซอง รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่าคันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ฉ-5645 และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิคันหมายเลขทะเบียน พิษณุโลก จ-2989 ของนายเราะ มั่นคงผู้เสียหายที่ 3 และอาวุธปืนกับกระสุนปืนอีก 3 นัด เป็นของกลางขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 80, 335, 336 ทวิ,80, 339, 340 ตรี, 364, 365, 371, 83, 91, 32, 33พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธปืน กระสุนปืน ซองพกปืนของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 แต่ให้ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ฐานมีอาวุธปืนไม่รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไม่รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80, 83, มาตรา 364, 365แต่การกระทำเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80, 83 จำคุก 1 ปีผิดตามมาตรา 289(2) ประกอบด้วยมาตรา 80 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตผิดตามมาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 15 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) ของกลางริบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษสมควรลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53คงจำคุกจำเลย 45 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกา ส่วนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ฉ-5645 มีนายสมนึกไม่ทราบนามสกุล ซึ่งพกพาอาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ขนาด .38ไม่มีทะเบียนพร้อมลูกกระสุนจำนวนหนึ่งอยู่ในลูกโม่ นั่งซ้อนท้ายไปจอดในหมู่บ้านที่ 2 ตำบลหอกลอง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก แล้วพบกับนายทวี มากเหลือ ผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้านอีกหลายคน นายทวีถืออาวุธปืนลูกซองยาวไปด้วย 1 กระบอก แล้วนายสมนึกและนายทวีได้ยิงปืนต่อสู้กัน เป็นเหตุให้นายสมนึกถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นจำเลยได้พาอาวุธปืนของผู้ตายดังกล่าวและขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนพิษณุโลก จ 2989 ของนายเราะ มั่นคง ออกไปจากที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจำเลยไปพบรถจักรยานยนต์ของนายเราะทีจำเลยขับไปอยู่ในป่าข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร ในตอนเย็นวันเกิดเหตุนั้น รุ่งขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนและกระสุนปืนบรรจุอยู่ในลูกโม่ 3 นัด ซึ่งเป็นของผู้ตายเป็นของกลางปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371ซึ่งเป็นความผิดสองกรรมแรก ศาลชั้นต้นให้ลงโทษฐานมีอาวุธปืนไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไม่รับอนุญาตจำคุก6 เดือน และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(7) วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 80, 83 มาตรา 364, 365 ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งศาลชั้นต้นให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 335 วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา80, 83 จำคุก 1 ปี นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลดโทษลง1 ใน 3 เท่านั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยความผิดทั้งสามกรรมดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในความผิดดังกล่าว คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และฐานชิงทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีนายทวี มากเหลือ นายเราะมั่นคง นายจำนงค์ พรหมมีเนตร นายแสวง ศิริสุข นายโกย สุขใยนายถาวร ศิริสุข และนายบุญช่วย มั่นคง เป็นประจักษ์พยานเบิกความประกอบกันว่า วันเกิดเหตุ มีการประชุมกรรมการหมู่บ้านเมื่อประชุมเสร็จแล้ว นายทวีกับชาวบ้านได้ไปยังที่เกิดเหตุเพราะมีคนมาแจ้งว่า เห็นรถจักรยานยนต์คนร้ายที่เคยงัดบ้านผู้แจ้งจอดอยู่ท้ายตลาดซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงนายทวี นายโกยและนายบุญช่วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดักรออยู่ที่รถคนร้าย ส่วนนายจำนงค์ นายเราะ และนายถาวรไปที่บ้านนายมณี มั่นคง พบคนร้าย2 คน คือจำเลยกับนายสมนึกอยู่บนบ้านนายมณี เมื่อจำเลยกับนายสมนึกเห็นมีคนมาได้ลงจากบ้านนายมณีวิ่งตรงมาที่รถจอดอยู่พอมาห่างประมาณ 30 เมตร นายทวีร้องบอกจำเลยกับนายสมนึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ให้หยุดและวางอาวุธ ทันใดนั้นนายสมนึกได้ใช้อาวุธปืนยิงมายังนายทวี 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ถูกนายทวีนายทวีได้ใช้อาวุธปืนยิงสวนไป 1 นัด กระสุนปืนถูกนายสมนึกล้มลงถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยได้คว้าเอาอาวุธปืนจากนายสมนึกที่นอนอยู่ยิงมายังนายทวี 2 นัด แต่กระสุนปืนไม่ถูกนายทวีต่อจากนั้นจำเลยถืออาวุธปืนวิ่งมาจี้นายเราะซึ่งยื่นคร่อมรถจักรยานยนต์อยู่บริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ นายเราะกลัวได้ลงจากรถวิ่งหนี จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ของนายเราะหลบหนีไปสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้นเห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวัน ประจักษ์พยานโจทก์ทุกปากอยู่ใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุต่างเห็นตรงกันว่าก่อนเกิดเหตุนายทวีผู้ใหญ่บ้านได้แจ้งแก่จำเลยกับนายสมนึกทราบแล้วว่าเป็นเจ้าหน้าที่ จำเลยกับนายสมนึกยังใช้อาวุธปืนยิงมายังนายทวี ซึ่งอยู่ในระยะห่างเพียง 30 เมตร พยานโจทก์ต่างไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายทวีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อกระสุนปืนที่จำเลยใช้ยิงพลาดไปไม่ถูกนายทวี จำเลยย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ข้อที่จำเลยฎีกาว่าหากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายทวีจริงจะต้องพบกระสุนปืนที่กองฟางที่นายทวีหลบอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่พบกระสุนปืนที่กองฟางแต่อย่างใดข้อเท็จจริงได้ความว่า กองฟางที่นายทวีใช้หลบนั้นเป็นกองฟางเล็ก ๆสูงเพียงแค่เอวเท่านั้น จำเลยอาจขาดความแม่นยำในการยิงปืน กระสุนปืนจึงไม่ถูกกองฟางก็เป็นได้ และข้อที่จำเลยฎีกาว่า ศาลกำหนดโทษสูงเกินไปนั้นเห็นว่าความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่มีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289เมื่อจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษดังกล่าวตามมาตรา 80 เท่ากับลดโทษลงมาหนึ่งในสามนั่นเอง การลดโทษประหารชีวิตลงหนึ่งในสามนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52(1) บัญญัติไว้ให้คงเหลือเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยต่ำกว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงนายทวีแล้วจำเลยได้ใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ของนายเราะขับหลบหนีไปแล้วจำเลยนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร จำเลยไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์คืนรถจักรยานยนต์นั้นแต่ประการใดจำเลยคงมีเจตนาเพียงต้องการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการใช้อาวุธปืนข่มขืนใจนายเราะให้มอบรถจักรยานยนต์โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามทางพิจารณาที่ได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์และบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)(7) วรรคสามประกอบด้วยมาตรา 80, 83 มาตรา 364, 365 อันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท โดยให้ลงโทษบทหนักที่สุดฐานพยายามลักทรัพย์ตามมาตรา335(3)(7) วรรคสาม ประกอบมาตรา 80, 83 นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 364, 365 นั้น จำคุกสูงสุดได้ถึง 5 ปีแต่ความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามมาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบมาตรา 80, 83 คงจำคุกสูงสุดได้เพียง 4 ปี 8 เดือน เท่านั้นและที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 โดยไม่ระบุให้ชัดเจนว่าเมื่อลดโทษให้แล้ว คงเหลือโทษในแต่ละฐานความผิดเท่าใดนั้นก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวมานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียด้วย ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นนั้น ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอมาท้ายฟ้องหรือขอแก้เพิ่มเติมฟ้องในเรื่องขอให้นับโทษต่อเสียก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจะขอมาหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วและจำเลยฎีกาต่อมาจึงไม่อาจให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี จำเลยมีความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองด้วย ให้จำคุก1 ปี ความผิดฐานพยายามลักทรัพย์และบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3)(7) วรรคสาม ประกอบด้วยมาตรา 80, 83 มาตรา 364, 365ให้ลงโทษบทหนักที่สุดฐานบุกรุกตามมาตรา 364, 365 ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามแล้ว ความผิดฐานมีอาวุธปืนจำคุก 8 เดือน ความผิดฐานพาอาวุธปืนจำคุก 4 เดือน ความผิดฐานบุกรุก จำคุก 8 เดือน ความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุก 33 ปี 4 เดือน ความผิดต่อเสรีภาพ จำคุก 8 เดือนรวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 33 ปี 32 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้นับโทษต่อ