คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ผู้เสียหายจะยอมให้จำเลยร่วมประเวณีซึ่งถือไม่ได้ว่า เป็นการข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหาย ซึ่งมีอายุยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจากบิดามารดา ก็เป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 38 ปีและมีภริยาอยู่แล้ว ไม่ได้มีเจตนาจะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยาการกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อการกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเริ่มขึ้นตั้งแต่จำเลยพาผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ที่ปากซอยหน้าบ้านในประเทศไทยแม้จำเลยจะไปร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ประเทศญี่ปุ่นการกระทำของจำเลยส่วนหนึ่งก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276, 310, 319, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 จำคุกจำเลย 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบว่าผู้เสียหายมีอายุไม่เกิน 18 ปี
ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายยินยอมให้ร่วมประเวณีไม่เป็นอนาจารและเหตุเกิดที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะความผิดสำเร็จที่ประเทศญี่ปุ่นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเคยร่วมประเวณีกับผู้เสียหายในประเทศไทยหลายครั้ง และไปร่วมประเวณีกันที่ประเทศญี่ปุ่นอีก แสดงว่าผู้เสียหายและจำเลยเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในวันเกิดเหตุก็เพื่อจะร่วมประเวณีกันแม้ผู้เสียหายจะยอมให้จำเลยร่วมประเวณีซึ่งถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหายซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากโจทก์ร่วมผู้เป็นบิดามารดา ก็เป็นการล่วงละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วม ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ38 ปี และมีภริยาอยู่แล้ว ไม่ได้มีเจตนาจะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยาการกระทำของจำเลยจึงเป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่งแล้วส่วนที่จำเลยอ้างว่าความผิดสำเร็จที่ประเทศญี่ปุ่น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยเริ่มขึ้นตั้งแต่จำเลยพาผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ที่ปากซอยหน้าบ้านไป แม้จำเลยจะไปร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ประเทศญี่ปุ่น แต่การกระทำของจำเลยส่วนหนึ่งก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามบทบัญญัติมาตรา 5แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเห็นว่าแม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรรอการลงโทษให้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานพรากผู้เยาว์โดยไม่รอการลงโทษชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 โดยมิได้ระบุวรรคใดนั้นเห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share