คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5860/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี เป็นส่งจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี นับแต่วันพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 และมาตรา 124

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 340, 340 ตรี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 45,225 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และ 126,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 กับนับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 17 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และ 75 (ที่ถูก มาตรา 76 และมาตรา 75 (เดิม)) ตามลำดับ คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 9 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 5 ปี นับแต่วันพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 45,225 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และ 126,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 ยกคำขอให้นับโทษต่อ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่ถูก มาตรา 75 (เดิม)) คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 1 จังหวัดระยอง มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 5 ปี นับแต่วันพิพากษา ซึ่งเป็นกรณีศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 124 ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกระทำความผิดขอให้ยกฟ้องหรือขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบา อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามผู้ต้องหาก่อนเริ่มสอบคำให้การและก่อนพาไปนำชี้ที่เกิดเหตุว่ามีทนายความ หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิ จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า การจะวินิจฉัยว่าปัญหานี้เป็นจริงตามที่จำเลยที่ 2 อ้างหรือไม่ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ดังนั้นเมื่อฎีกาของจำเลยที่ 2 ล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2

Share