แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส …” และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส …” ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า “บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น” ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 263 เนื้อที่ 37 ไร่ 46 ตารางวา ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดิน และให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอทับสะแกจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการได้มาโดยการครอบครองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง ขอให้พิพากษาว่า นายบุญชู ผู้ตาย ซึ่งเป็นบิดามีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง ให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทคืนแก่ทายาทของนายบุญชูทั้งหมด ให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดก ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโดยบุคคลภายนอก ให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง ระหว่างพิจารณา จำเลยร่วมทั้งห้าในฐานะทายาทโดยธรรมของนายบุญชู ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยขอถือตามคำให้การกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 263 เป็นของนายบุญชูครึ่งหนึ่ง ให้โจทก์ออกไปจากที่ดินในส่วนของนายบุญชู ห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินในส่วนของนายบุญชูอีกต่อไป กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยและจำเลยร่วมทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งตามคำฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 263 เป็นของโจทก์และนายบุญชูคนละกึ่งหนึ่ง ให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินกึ่งหนึ่งแก่ทายาทของนายบุญชู ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ยกฟ้องแย้งของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งห้าในส่วนที่ให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งเป็นพับ คดีถึงที่สุด จำเลยและจำเลยร่วมทั้งห้าขอศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาดังกล่าว
วันที่ 27 เมษายน 2559 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาดังกล่าวโดยมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมและฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนกระบวนพิจารณา ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์คำสั่งนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า นางชั้น จดทะเบียนสมรสกับนายบุญชู เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2496 และยังมิได้จดทะเบียนหย่า ส่วนจำเลยร่วมที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับนายบุญชู เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2514 ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2514 นางชั้นกับนายบุญชูได้จดทะเบียนหย่ากัน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นโดยมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมและฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ 1 ได้หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ จำต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 เข้าเป็นจำเลยร่วมได้นั้น เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ ในเรื่องนี้โจทก์ฎีกาว่า การจดทะเบียนสมรสของจำเลยร่วมที่ 1 กับนายบุญชู เป็นโมฆะเพราะเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่มีส่วนได้เสียหรือไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายบุญชู จึงไม่มีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ นั้น เห็นว่า เมื่อนายบุญชูได้จดทะเบียนสมรสกับนางชั้นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 ดังนั้น นายบุญชูกับนางชั้นจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้นายบุญชูจะได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่างนายบุญชูกับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส…” และตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส…” ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของนางชั้นหรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า “บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น” ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่างนายบุญชูกับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่างนายบุญชูกับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่างนายบุญชูกับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนายบุญชู จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ปัญหานี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้อีกเช่นกัน จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ