คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์มิได้ขอค่าจ้างในกรณีเลิกจ้าง โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้ามาในคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจที่จะพิพากษาเกินคำขอ โดยให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์คนละ 15 วันในคดีดังกล่าวได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ในเมื่อพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับเหมาช่วงมาจากจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทั้ง ๓๙ คนเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ แล้วต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดโดยอ้างว่าจะเลิกกิจการ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทั้งไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้างและค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองรับโจทก์ทั้งหมด เข้าทำงานในตำแหน่งและค่าจ้างเดิม หรือจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งหมดตามกฎหมายรวมทั้งเงินค่าจ้างที่ค้างจ่าย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้ เป็นนายจ้างของโจทก์ แต่ได้ให้จำเลยที่ ๒ รับเหมาการจ้างค่าแรงทั้งหมด
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า เป็นผู้จ้างโจทก์ โดยรับเหมาจากจำเลยที่ ๑ กับค้างค่าจ้างโจทก์จริง ได้เลิกจ้างโจทก์เพราะกิจการขาดทุน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต่างเป็นนายจ้างร่วมของโจทก์ และต้องรับผิดร่วมกันในการเลิกจ้างโจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างที่ค้างและค่าจ้างอีกคนละ ๑๕ วัน เพราะมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนระยะเวลากำหนดจ่ายสินจ้างรวมทั้งค่าชดเชยฯ ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย การที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งหมดมิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงในข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่นายจ้างของโจทก์ ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๕๔ แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์คนละ ๑๕ วัน เพราะมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนระยะเวลากำหนดจ่ายสินจ้าง โดยที่โจทก์มิได้ขอมาในคำฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอมาในคำฟ้อง ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจที่จะพิพากษาเกินคำขอได้ ในเมื่อพิจารณาแล้วเห็นสมควร เพื่อความเป็นธรรม
พิพากษายืน

Share