แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยความจำเครื่องคอมพิวเตอร์ อันเป็นการทำซ้ำงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (1) และมีความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ส่วนการที่จำเลยเปิดให้บริการแก่ลูกค้าเป็นการทำให้ปรากฏซึ่งงานดนตรีกรรมเพลงชุดพิพาท โดยไม่มีการทำให้ปรากฏซึ่งชุดคำสั่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงมิใช่กรณีที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง
โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานที่เกิดจากการแสดงออกซึ่งความคิดจึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนสิ่งที่ศาลจะให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 นั้น หมายถึงสิ่งซึ่งเป็นวัตถุที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผู้ทำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็นเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ จึงต้องพิพากษาให้หน่วยบันทึกความจำเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 30, 69, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 สั่งริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (2) ระวางโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพทำให้สะดวกแก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นเห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีเพลงชุด “เรียกพี่ยังไหว” ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ไปบันทึกในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยแล้วนำงานดนตรีกรรมเพลงชุด “เรียกพี่ยังไหว” ที่บันทึกเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยการเปิดให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่เข้ามาร้องเพลงในร้านอาหารของจำเลยเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 และมาตรา 69 แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในการกระทำที่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยความจำเครื่องคอมพิวเตอร์ อันเป็นการทำซ้ำงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) และมีความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ส่วนการที่จำเลยเปิดให้บริการแก่ลูกค้าเป็นการทำให้ปรากฏซึ่งงานดนตรีกรรมเพลงชุดเรียกพี่ยังไหว โดยไม่ปรากฏว่ามีการทำให้ปรากฏซึ่งชุดคำสั่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นแต่อย่างใด จึงมิใช่กรณีที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่ประการใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 30 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง จึงเป็นการปรับบทความผิดไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า จำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกเพลงชุด “เรียกพี่ยังไหว” เพียง 1 ชุด มาบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนำออกเผยแพร่ต่อลูกค้าร้านอาหารของจำเลยเท่านั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าร้านอาหารของจำเลยเป็นกิจการขนาดใหญ่ ตามพฤติการณ์ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายมากนัก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน และยังลงโทษปรับ 100,000 บาท อีกสถานหนึ่งด้วยน้ำหนักเกินไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียว โดยไม่ลงโทษปรับจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานที่เกิดจากการแสดงออกซึ่งความคิดจึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนสิ่งที่ศาลจะให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 นั้น หมายถึงสิ่งซึ่งเป็นวัตถุที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผู้ทำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนี้ หน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ จึงต้องพิพากษาให้หน่วยบันทึกความจำเครื่องคอมพิวเตอร์ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ให้จำคุกมีกำหนด 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยไม่ลงโทษปรับจำเลย ให้หน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลางตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง