แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 รวมกันจำนวน 17 แปลง มีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกัน มีการเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเต็มพื้นที่ แม้ว่าโจทก์ทั้งสองจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย แต่ก็ได้ใช้ประกอบการค้าของบริษัททั้งของโจทก์เอง และบริษัทที่โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วย โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าส่วนใดใช้ประกอบกิจการหรือไม่ อีกทั้งยังให้บริษัท ก. เช่าที่ดินเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงในส่วนที่เป็นที่ตั้งของบ้านและสำนักงานบริษัทของโจทก์ แม้จะมีที่ดินบางส่วนว่างอยู่ แต่ก็ถือว่าโจทก์ทั้งสองใช้ที่ดินทั้ง 17 แปลงในการประกอบกิจการทั้งหมดทุกแปลง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 โจทก์ทั้งสองขายที่ดินทั้ง 17 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่กรุงเทพมหานครจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) ซึ่งตกอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 (5) แห่ง พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น แม้ภายหลังจะมี พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร มีแต่เฉพาะการขายของนิติบุคคลนั้น ก็เป็นเพียงกรณีที่รัฐประสงค์จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีตามนโยบาย ไม่มีผลลบล้างบทบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลภาษีอากรกลางสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยเรียกนายสุพจน์ มโนมัยพันธุ์ ว่าโจทก์ที่ 1 เรียกนางสุณี มโนมัยพันธุ์ ว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว หรือพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองขายที่ดินรวม 17 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 69713 ถึง 69718, 69707 ถึง 69710, 2852 กับ 2835 ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 69706, 69711, 69712, 69719 กับ 69720 ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกันแก่กรุงเทพมหานคร ในราคา 242,000,000 บาท และ 28,000,000 บาท เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 โดยยกสิ่งปลูกสร้างพร้อมอุปกรณ์บนที่ดินรวมมูลค่า 50,493,200 บาท ให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยไม่คิดมูลค่า ในขณะที่กรุงเทพมหานครชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 270,000,000 บาท ณ ที่จ่ายแทนโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ทั้งสองมิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จำเลยจึงแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 60 และ 44 ต่อมาภายหลังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงร้อยละ 50 ตามเอกสารฉบับดังกล่าวแผ่นที่ 1 และ 2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองมีว่า ที่ดินทั้ง 17 แปลง และสิ่งปลูกสร้างอยู่ในสภาพที่ใช้พักอาศัยหรือประกอบกิจการเพียงใด โจทก์ทั้งสองต่างอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานว่า พวกตนซื้อที่ดินทั้ง 17 แปลง ไว้เพื่อเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ขณะเดียวกันก็ใช้ที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 69716 ถึง 69718 เป็นที่อยู่อาศัยและลานจอดรถยนต์บรรทุกประมาณ 13 คัน ที่โจทก์ที่ 1 ใช้ในกิจการค้าขี้เลื่อยและเศษไม้เท่านั้น แม้ที่ดินทั้งหมดจะมีเนื้อที่ต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกัน แต่ก็มิได้มีการข้องแวะหรือใช้สอยที่ดินอีก 9 แปลง ของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งที่ดิน 5 แปลง ของโจทก์ที่ 2 ด้วย แต่ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่าตนได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในการประกอบธุรกิจขายขี้เลื่อยและเศษไม้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 โดยเพิ่งเลิกประกอบกิจการดังกล่าวในปี 2540 นอกจากนั้นยังยอมรับข้อเท็จจริงในการตอบคำถามค้านว่า ปลูกสร้างโกดังขึ้น 2 หลัง ตามใบอนุญาตก่อสร้างเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 77 ถึง 79 บ้านเลขที่ 1560 ที่เป็นที่พักอาศัยของโจทก์ทั้งสองก็ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานของบริษัทโม้วฮวดอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเดิมขายแต่ขี้เลื่อยกับเศษไม้ ต่อมาขยายกิจการรับไสไม้ด้วยตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 159 บริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด ซึ่งเดิมซ่อมแต่เฉพาะรถยนต์บรรทุกที่ใช้ในธุรกิจค้าขี้เลื่อยและเศษไม้ ต่อมาจึงขยายกิจการรับซ่อมรถของบริษัทประกันภัยด้วยตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 34 และเป็นภูมิลำเนาจดทะเบียนของบริษัทโกลด์เด้นไตรแดงเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจนำเข้าไม้จากต่างประเทศตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 28 โดยโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทเหล่านั้น ที่ดินทั้ง 17 แปลง นี้มีรั้วล้อมรอบและเทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ส่วนโจทก์ที่ 2 ก็รับข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันในการตอบคำถามค้านว่าในส่วนที่ดิน 5 แปลง ของตนนั้นมีการก่อสร้างโครงหลังคาคลุมไว้ 2 หลัง ตามใบอนุญาตก่อสร้างเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 78 และ 79 โดยตนเป็นกรรมการบริษัทโม้วฮวด อุตสาหกรรม จำกัด กับบริษัทร่วมเสริมลาภ ม.ฮ. จำกัด ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว… รวมทั้งให้บริษัทโกลด์เด้นไตรแองเกิลฟอเรสตรี้ จำกัด ซึ่งโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเช่าเป็นที่ตั้งสำนักงานในราคาเดือนละ 50,000 บาท สภาพที่ดินต่อเนื่องเป็นแปลงเดียวกันตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 29 ถึง 30 เดิมใช้ประกอบกิจการขายขี้เลื่อยและเศษไม้ ต่อเติมอาคารเป็นโรงรถ อู่ซ่อมรถ โดยไม่ได้แบ่งแยกว่าส่วนใดใช้ประกอบกิจการหรือไม่ อย่างไร… ที่ศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้ว่า ที่ดินทั้ง 17 แปลง และสิ่งปลูกสร้างอยู่ในสภาพที่โจทก์ทั้งสองใช้เป็นที่พักอาศัยและใช้ในการประกอบกิจการทั้งหมดทุกแปลงจึงชอบแล้ว…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การขายที่ดินตามฟ้องตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า ระหว่างเวลาที่โจทก์ทั้งสองขายที่ดินตามฟ้องนั้นพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยในมาตรา 3 (5) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนบุคคลที่เป็นผู้ขายและมีหน้าที่เสียภาษีนั้น หมายถึงบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 91/1 วรรคสอง ประกอบมาตรา 77/1 คือ บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล เพราะมิได้มีบทนิยามไว้โดยเฉพาะให้หมายถึงแต่นิติบุคคลดังที่โจทก์ทั้งสองหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ การขายที่ดินที่โจทก์ทั้งสองมีไว้ในการประกอบกิจการจึงเป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรซึ่งตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวโดยประการทั้งปวง แม้ภายหลังจะมีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ออกมาบังคับใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ก็เป็นเพียงกรณีที่รัฐประสงค์จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีตามนโยบายเท่านั้น ไม่มีผลลบล้างบทบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมที่มีผลสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางในปัญหาข้อนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว…”
พิพากษายืน