คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่คู่สมรสยกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ถือได้ว่าคู่สมรสนั้นได้ตกลงแบ่งที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวออกเป็นของแต่ละฝ่าย ย่อมทำให้ที่ดินในส่วนที่เหลือหมดสภาพจากการเป็นสินสมรส และตกเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การให้อสังหาริมทรัพย์แก่ผู้รับนั้นจะสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่บ้านพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทางพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติกรรม การให้ดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายกรรมสิทธิ์ในบ้านยังคงเป็นของผู้ให้ เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องเพชร และเครื่องประดับอื่น ๆ คือสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน เข็มขัดนาก ซึ่งเป็นของภรรยามีราคาไม่มากนักเป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะแม้จะได้มาโดยสามีเป็นผู้หามาให้ หรือภรรยาหามาเองในระหว่างสมรสก็ยังคงเป็นสินส่วนตัวของภรรยา.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดาโจทก์มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 รวม 3 คน คือ นางเชื้อมารดาโจทก์ นางเกื้อ และนางละมัย หลังจากนางเชื้อและนางเกื้อตายแล้ว บิดาโจทก์อยู่กินกับนางละมัยมีสินสมรสร่วมกัน คือที่ดินเงินฝากธนาคาร เครื่องทองรูปพรรณ และอื่น ๆ รวมราคาทรัพย์704,706.08 บาท เมื่อบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม นางละมัย ยื่นคำร้องขอทำนิติกรรมจดทะเบียนให้เฉพาะส่วนบ้านเลขที่ 370 แก่โจทก์แต่ยังมิได้จัดการโอนให้เรียบร้อย นางละมัยถึงแก่ความตาย จำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนางละมัย ส่วนโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายชวนบิดา วันที่ 29 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1038 พร้อมบ้านด้วยเจตนาอำพราง เพื่อฉ้อฉลโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสระหว่างนายชวนและนางละมัย คืนแก่โจทก์แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยจึงต้องร่วมกันรับผิด
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของนางละมัย จำเลยที่ 1 โอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษา ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเครื่องทองรูปพรรณ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันฟังได้ว่านายชวน กฤษณวรรณ บิดาโจทก์มีภรรยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พ.ศ. 2478 รวม 3 คน คือนางเชื้อมารดาโจทก์ นางเกื้อและนางละมัย นางเชื้อกับนางเกื้อถึงแก่กรรมก่อนนายชวน นายชวนมีบุตรกับนางเชื้อและนางเกื้อรวม 8 คนไม่มีบุตรกับนางละมัย ระหว่างอยู่กินกันเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน2493 นายชวน นางละมัย ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1038ตำบลบางยี่เรือ (แขวงบางยี่เรือ) อำเภอบางกอกใหญ่ (เขตธนบุรี)กรุงเทพมหานคร จากนางบุญหลง ภาลบุตร ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2521นายชวนได้ให้ที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนแก่โจทก์ วันที่ 9มิถุนายน 2521 นางละมัยได้ให้นายชนะ กฤษวรรณถือกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของตน และวันที่ 20 ธันวาคม 2521 เจ้าพนักงานที่ดินได้แยกโฉนดที่ดินให้ เป็นของโจทก์เนื้อที่ 48 ตารางวา เป็นของนายชนะเนื้อที่ 31 ตารางวา ส่วนนางละมัยถือโฉนดเดิมเหลือเนื้อที่ 61ตารางวา นายชวนอยู่กับนางละมัย จนนายชวนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่24 กุมภาพันธ์ 2525 นางละมัยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2526ก่อนนางละมัยถึงแก่กรรมคือวันที่ 6 เมษายน 2526 จำเลยที่ 2 และนางประยงค์ กลั่นสกุลมารดาจำเลยที่ 2 ได้สำรวจทรัพย์สินของนางละมัยประมาณ 20 รายการ และรับไปปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายชวน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางละมัย นางละมัยเป็นพี่จำเลยที่ 1 และเป็นน้องนางประยงค์ คงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า
1. ที่ดินโฉนดเลขที่ 1038 ตำบลบางยี่เรือ (แขวงบางยี่เรือ)อำเภอบางกอกใหญ่ (เขตธนบุรี) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 61 ตารางวาและครึ่งหนึ่งของบ้านเลขที่ 370 บนที่ดินดังกล่าวซึ่งเหลือจากการที่นายชวนยกให้โจทก์แล้วเป็นสินสมรสของนายชวนกับนางละมัยหรือไม่
2. การที่นางละมัยไปยื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมให้บ้านดังกล่าวครึ่งหนึ่งในส่วนของตนแก่โจทก์ที่สำนักงานที่ดินเขตธนบุรีไว้แล้วก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์เป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300หรือไม่
3. โจทก์ขอเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทและครึ่งหนึ่งของบ้านพิพาทในส่วนที่เหลือจากที่นายชวนยกให้โจทก์แล้วได้หรือไม่
4. เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องเพชร เครื่องประดับอื่น ๆเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาตลาดพลู ตามฟ้อง และค่าเช่าที่ดินพิพาทเดือนละ 600 บาทเป็นสินสมรสของนายชวนกับนางละมัยหรือไม่
ปัญหาตามข้อ 1 เห็นว่า นายชวนได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1038 ตำบลบางยี่เรือ (แขวงบางยี่เรือ) อำเภอบางกอกใหญ่(เขตธนบุรี) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสินสมรสของนายชวนกับนางละมัยเฉพาะส่วนของนายชวนให้แก่โจทก์ไปแล้วถือได้ว่านายชวนกับนางละมัยได้ตกลงแบ่งที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวออกเป็นของแต่ละฝ่ายย่อมทำให้ที่ดินในส่วนที่เหลือหมดสภาพจากการเป็นสินสมรสและตกเป็นสินส่วนตัวของนางละมัย ส่วนบ้านเลขที่ 370 นั้น นายชวนได้ทำพินัยกรรมยกส่วนของตนครึ่งหนึ่งให้โจทก์แล้วเช่นกัน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจึงตกเป็นของนางละมัยแต่ผู้เดียว
ปัญหาตามข้อ 2 เห็นว่า การให้อสังหาริมทรัพย์แก่ผู้รับนั้นจะสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ บ้านพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อทางพนักงานเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติกรรม การให้ดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนที่เป็นของนางละมัยยังคงเป็นของนางละมัย เมื่อนางละมัยถึงแก่กรรม ทรัพย์สินของนางละมัยก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1278/2527 ระหว่าง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดโจทก์ นางเยาว์ แซ่เบ๊หรืออมร ธีระสวัสดิ์ ผู้ร้อง นายออ แซ่อึ้งกับพวก จำเลย ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกาของโจทก์นั้นข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้
ปัญหาตามข้อ 3 เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยแล้วฟังได้ว่าที่ดินพิพาทและครึ่งหนึ่งของบ้านพิพาทในส่วนที่เหลือจากที่นายชวนยกให้โจทก์แล้วเป็นมรดกของนางละมัย โจทก์ไม่ได้เป็นทายาทไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกดังกล่าว ก็ย่อมไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์สินในส่วนนี้ให้บุคคลอื่นได้
ปัญหาข้อ 4 เห็นว่า เครื่องทองรูปพรรณ เครื่องเพชรและเครื่องประดับอื่น ๆ ตามฟ้อง คือสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวนเข็มขัดนาก เป็นเครื่องประดับกายซึ่งรวมกันแล้วมีราคาไม่มากนักเมื่อพิจารณาตามฐานะและรายได้ของบิดาโจทก์และนางละมัยแล้วเครื่องประดับกายดังกล่าวเป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของนางละมัย แม้นางละมัยได้มาโดยบิดาโจทก์เป็นผู้หามาให้หรือนางละมัยหามาเองในระหว่างสมรสก็ตามก็เป็นสินส่วนตัวของนางละมัยส่วนเงินฝากในธนาคารออมสิน สาขาตลาดพลูทั้งสองบัญชีมีชื่อนางละมัยเป็นเจ้าของ ทั้งก่อนนางละมัยถึงแก่กรรม ฝ่ายจำเลยได้สำรวจทรัพย์สินของนางละมัยแล้วทำบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินของนางละมัยไว้ตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ซึ่งรู้เห็นการทำบันทึกฉบับดังกล่าวและร่วมลงชื่อไว้ในฐานะพยานก็ไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งว่าทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นสินสมรสของนายชวนกับนางละมัย นอกจากนี้หลังจากนายชวนถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ไม่เคยเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์ดังกล่าวจากนางละมัยจนนางละมัยถึงแก่กรรมหลังนายชวน 1 ปีเศษ จึงน่าเชื่อว่าทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งมีเงินฝากในธนาคารออมสิน สาขาตลาดพลูรวมอยู่ด้วยเป็นสินส่วนตัวของนางละมัย(สำหรับค่าเช่าที่ดินพิพาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของนางละมัย ดังนั้นเงินรายได้จากค่าเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นของนางละมัยไม่ได้เป็นมรดกของนายชวน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหามาชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share