แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายวันละ 1,400 บาท ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าที่พิพาทอาจให้เช่าเดือนละ 42,000 บาท ได้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 3,000 บาท และโจทก์มิได้อุทธรณ์ ถือได้ว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
เมื่อสัญญาเช่าที่พิพาทระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมระงับไป แต่จำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทต่อไปอีก จึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมผู้ให้เช่า มิได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินรวมทั้งที่พิพาทก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากจำเลยเป็นผู้รอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท และเรียกค่าเสียหายโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 การวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ต้องพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญ แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยอ้างว่าระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาเช่าแก่โจทก์แล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ให้หมดสิ้นไป
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินจากโจทก์ร่วม แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากมีอาคารของจำเลยปลูกอยู่บนที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารออกจากที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วม ซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือการที่จำเลยเพิกเฉยไม่รื้อถอนอาคารเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ คำฟ้องจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยไม่สิทธิตามกฎหมายอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่าจำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าที่จำเลยทำกับโจทก์ร่วม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยเป็นเจ้าของอาคารซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่โจทก์เช่าโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจึงบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายวันละ 1,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนอาคารและส่งมอบที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารของจำเลยออกไปโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์วันละ 1,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารเสร็จสิ้น กับห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องมาพร้อมกับคำฟ้องขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารเลขที่ 42 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่พิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า อุทธรณ์ของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยให้รื้อถอนอาคารออกจากที่พิพาทและให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ตามคำฟ้องของโจทก์แม้จะขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 1,400 บาท หรือเดือนละ 42,000 บาท ซึ่งเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 42,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท และโจทก์มิได้อุทธรณ์จึงถือได้ว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท กรณีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเท็จจริงจึงชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า อุทธรณ์ของจำเลยเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องวินิจฉัยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโดยอ้างว่า การบอกเลิกการเช่าของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 เนื่องจากโจทก์มิได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแก่จำเลย ส่วนโจทก์ร่วมมีหนังสือบอกเลิกการเช่า แต่เมื่อนับจากวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกการเช่าจนถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 2 เดือน อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมายดังที่จำเลยอ้าง แต่ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้อยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์หากถือว่าจำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิก็เป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วม มิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งยังมิได้รับมอบการครอบครองที่ดินที่เช่าจากโจทก์ร่วม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยนั้น เห็นว่า เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัย และเพื่อไม่ให้คดีล่าช้าเสียเวลาศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เนื่องจากคดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาเช่าที่พิพาทที่จำเลยทำกับโจทก์ร่วมได้ระงับไปแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่พิพาทต่อไปอีกจึงเป็นการอยู่โดยไม่มีสิทธิ แม้การอยู่ในที่พิพาทของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วมผู้ให้เช่า มิได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินรวมทั้งที่พิพาทจากโจทก์ร่วมก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทก็ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตามสิทธิที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าไม่ได้เนื่องจากมีจำเลยเป็นผู้รอนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทและเรียกค่าเสียหายโดยขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 แม้โจทก์จะระบุข้อหาหรือฐานความผิดในคำฟ้องคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นละเมิดและสรุปการกระทำของจำเลยตามที่บรรยายมาในคำฟ้องว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยกเอากฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงตามความเข้าใจของโจทก์ แต่ในการวินิจฉัยคดีศาลย่อมมีอำนาจปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องให้จำเลยรับผิดตรงตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้บอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่อาจอ้างถึงมูลอันชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่พิพาทอีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์ย่อมหมดไปนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ต้องพิจารณาถึงสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเป็นสำคัญ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้วในขณะฟ้องให้หมดสิ้นไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและขอให้เรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมโดยบรรยายฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินจากโจทก์ร่วม แต่โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่พิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เช่าจากโจทก์ร่วมได้ เนื่องจากมีอาคารเลขที่ 42 ของจำเลยปลูกอยู่บนที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนอาคารและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่พิพาทได้ ขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ปลูกอยู่บนที่พิพาทและส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาแล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับคือให้จำเลยรื้อถอนอาคารและส่งมอบที่พิพาทแก่โจทก์พร้อมกับใช้ค่าเสียหาย ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคือการที่จำเลยเพิกเฉยไม่รื้อถอนอาคารของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่พิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์เช่าจากโจทก์ร่วมโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอย่างไรนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยก็ให้การต่อสู้ว่า จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิแห่งสัญญาเช่าที่จำเลยทำกับโจทก์ร่วมซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน