แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลอืกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ ข้อ 14 ที่กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันเวลานัดและศาลที่จะยื่นคำร้องให้ผู้สมัครทราบก่อนวันนัดยื่นคำร้องไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลและแพ่งก่อนวันเลือกตั้งมากกว่า 10 วันทำการ แต่คดีนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องก่อนวันเลือกตั้งไม่มากกว่า 10 วันทำการ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 34/1 กำหนดว่า ก่อนการเลือกตั้งถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นได้ ประกอบกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งฯ ข้อ 14 วรรคสุดท้าย กำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายและกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อ 14 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
สถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้คัดค้านถูกถอนและปริญญาบัตรที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านได้ถูกยกเลิกตามประกาศมหาวิทยาลัยแล้วการถอนสภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและยกเลิกปริญญาบัตรดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเรื่องเวลาหรือโดยเหตุอื่นตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 42 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าการถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจหรือมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังไม่ดำเนินการอย่างใดอันอาจมีผลให้การถอนสภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรได้ถูกเพิกถอนหรือสิ้นผลลง การเพิกถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจึงยังมีผลอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 14 กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 14 กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศรายชื่อนายการุณ โหสกุล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 14 กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งรายนี้ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (3) กรณีสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของนายการุณ โหสกุล
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดพิจารณาศาลฎีกาสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านได้ไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 14 กรุงเทพมหานคร และผู้ร้องได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยมีชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในประกาศของผู้ร้อง ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งโดยใช้วุฒิการศึกษาเป็นผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้ถอนสภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้คัดค้าน และให้ยกเลิกปริญญาบัตรที่ออกให้แก่ผู้คัดค้าน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไป
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่ผู้คัดค้านโต้แย้งประการแรกว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านเป็นการมิชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านอ้างว่า การยื่นคำร้องในกรณีนี้ผู้ร้องต้องส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันเวลานัดและศาลที่จะยื่นคำร้องให้ผู้คัดค้านทราบก่อนวันนัดยื่นคำร้องไม่น้อยกว่า 3 วัน การที่ผู้ร้องนำหมายศาลและสำเนาคำร้องและแจ้งศาลที่จะยื่นคำร้องให้ผู้คัดค้านทราบล่วงหน้าภายในวันเดียวจึงไม่ชอบด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2547 ข้อ 14 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อกำหนดดังกล่าวที่กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งต้องส่งสำเนาคำร้องและแจ้งกำหนดวันเวลานัดและศาลที่จะยื่นคำร้องให้ผู้สมัครทราบก่อนวันนัดยื่นคำร้องไม่น้อยกว่า 3 วัน เป็นกรณีที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งก่อนวันเลือกตั้งมากกว่า 10 วันทำการ แต่คดีนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องก่อนวันเลือกตั้งไม่มากกว่า 10 วันทำการ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 34/1 กำหนดว่า ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเห็นว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นได้ ประกอบกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาและวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2547 ข้อ 14 วรรคสุดท้าย กำหนดให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง ผู้ร้องจึงสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายและกรณีไม่อยู่ภายใต้บังคับของข้อ 14 วรรคหนึ่งและวรรคสอง การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ในปัญหานี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร … (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เว้นแต่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา” กรณีของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งโดยอาศัยคุณสมบัติของผู้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า คือ ได้รับปริญญารัฐประศาสนศาสตรบัญฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ข้อวินิจฉัยปัญหานี้จึงมีประการแรกว่า การที่สภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเพิกถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้คัดค้าน และให้ยกเลิกปริญญาบัตรที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านนั้นมีผลทำให้ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อได้ความว่า สถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีของผู้คัดค้านถูกถอนและปริญญาบัตรที่ออกให้แก่ผู้คัดค้านได้ถูกยกเลิกตามประกาศมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชแล้ว การถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรดังกล่าวย่อมมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลง โดยเรื่องเวลาหรือโดยเหตุอื่นตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 42 วรรคสอง ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะอ้างว่า การพิจารณาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นการพิจารณาที่ไม่ให้โอกาสผู้คัดค้าน อีกทั้งผู้คัดค้านได้อุทธรณ์ร้องขอความเป็นธรรมต่อมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และขอให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทุเลาการบังคับตามคำสั่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า การถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจหรือมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชยังไม่ดำเนินการอย่างใดอันอาจมีผลให้การถอนสภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรได้ถูกเพิกถอนหรือสิ้นผลลง การเพิกถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและการยกเลิกปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงยังมีผลอยู่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้มหาวิทยาลัยรามคำแหงมิได้ดำเนินการถอนสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) และปริญญาบัตรที่ออกให้แก่ผู้คัดค้าน แต่ตามหนังสือสำคัญใบรับรองคะแนนก็ระบุชัดแจ้งว่า ในการรับผู้คัดค้านเข้าศึกษาหลักสูตรดังกล่าว เป็นการรับโดยอาศัยวุฒิการศึกษารัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเมื่อสถานภาพการเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและปริญญาบัตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ดังกล่าว ถูกถอนโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้ผู้คัดค้านไม่มีสถานะเป็นผู้จบปริญญาตรีแล้ว มหาวิทยาลัยรามคำแหงย่อมไม่อาจรับผู้คัดค้านเข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาโทได้ การเป็นผู้สำเร็จการศึกษาและปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ของผู้คัดค้านจึงตกไปในตัว ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกเช่นกัน ที่ผู้ร้องเห็นว่า ผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 (3) ชอบแล้ว ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 14 กรุงเทพมหานคร ของผู้คัดค้านได้”
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้คัดค้าน