คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10179/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ…”
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เมื่อโจทก์ติดตามยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้แก่เจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากราคาขายตกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 350 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2945/2547 ของศาลอาญา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน และให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2945/2547 ของศาลอาญา สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่ความตาย นายชิสา และนายชุษณะ บุตรของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุก…” เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้จำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว รวมทั้งย่อมต้องทราบถึงว่าโจทก์กำลังดำเนินการขอบังคับคดี โดยการยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา รวมทั้งยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น ของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ระหว่างบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด กับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทจำกัด ลงวันที่ 1 กันยายน 2548 บริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด มีหนี้ค้างชำระอยู่เป็นต้นเงินประมาณ 200,000,000 บาท เมื่อรวมดอกเบี้ยด้วยจะเป็นเงินรวมประมาณ 500,000,000 บาท และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด กำหนดให้บริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 การที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด โดยตกลงชำระหนี้ปิดบัญชี 150,000,00 บาท ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าใช้จ่ายค้างชำระ 549,480.37 บาท ทั้งนี้ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด อนุมัติให้ไถ่ถอนหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 ของจำเลยที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 77,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ถึงวันที่ 5 กันยายน 2548 รวมเป็นเงิน 86,206,773.97 บาท และไถ่ถอนหลักประกันที่เหลือคือที่ดิน 32 โฉนด ไม่ต่ำกว่า 73,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ถึงวันที่ 5 กันยายน 2548 รวมเป็นเงิน 81,728,500 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระ 168,484,754.34 บาท เห็นได้ว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำให้บริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ปลดเปลื้องภาระหนี้สินไปได้เป็นจำนวนกว่า 300,000,000 บาท ซึ่งหากไม่มีการตกลงทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยปล่อยให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด บังคับคดีไปโดยการขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง แม้จะขายที่ดินพร้อมอาคาร 12 ชั้น และที่ดิน 32 โฉนดไปได้ทั้งหมด ก็ยังไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัดได้ การขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น จึงเป็นการขายตามข้อตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การโอนขายที่ดินพร้อมอาคาร 12 ชั้น ของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร อยู่ติดถนนรัชดาภิเษก มีราคาประเมินประมาณ 78,000,000 บาท ส่วนที่ดิน 32 โฉนด ไม่ติดถนนรัชดาภิเษก มีราคาประเมินประมาณ 60,000,000 บาท ดังนั้น ราคาขายที่ดินพร้อมอาคาร 12 ชั้น น่าจะมีราคาสูงกว่าที่ดิน 32 โฉนด การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมอาคาร 12 ชั้น ในราคาเพียง 86,000,000 บาทเศษ แต่ที่ดิน 32 โฉนด กลับมีราคาสูงถึง 133,000,000 บาทเศษ จึงเป็นการสลับราคากันโดยมีเจตนาจะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์มีนายชิสาบุตรโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น อยู่ด้านหน้ามีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 4,000 ตารางเมตร น่าจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 200,000,000 บาท โดยเทียบเคียงกับตึกไทยรักไทย ซึ่งอยู่ติดถนนเพชรบุรี มีราคาตารางเมตรละ 50,000 บาท เห็นว่า แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 อยู่ติดถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นคนละย่านกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ราคาขายของที่ดินริมถนนของแต่ละถนนย่อมอาจนำมาเทียบเคียงกันได้ แต่หากพิจารณาการเปรียบเทียบสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 กับที่ดิน 32 โฉนดแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 8 ตารางวา มีลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ที่ดินด้านทิศตะวันตกตลอดแนวติดถนนรัชดาภิเษกซึ่งถือว่าเป็นย่านเศรษฐกิจส่วนที่ดิน 32 โฉนด แม้จะมีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน แต่ตามรูปแผนที่ เห็นได้ว่า มีเพียงที่ดินโฉนดเลขที่ 21381 เนื้อที่ 95 ตารางวา ซึ่งบางส่วนมีเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 ด้านหลัง ที่ดินโฉนดที่เหลือนอกนั้นมีอาณาเขตต่อเนื่องยาวลึกไปทางด้านหลังและที่ดินบางส่วนทำเป็นถนนผ่านกลางที่ดินเป็นถนนซอยไปออกสู่ถนนรัชดาภิเษกห่างจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 ประมาณ 300 เมตร ที่ดินทั้ง 32 โฉนด ไม่ได้มีส่วนใดอยู่ติดกับถนนรัชดาภิเษกและจำเลยที่ 1 ใช้ที่ดินดังกล่าวทำเป็นที่จอดรถของอาคาร 12 ชั้น แม้เนื้อที่ดินทั้ง 32 โฉนด มีจำนวน 1,381 ตารางวา หรือประมาณ 3 ไร่เศษ แต่ราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน ประเมินราคารวมกันได้ 60,260,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น สำนักงานที่ดินตีราคาประเมินในส่วนของที่ดินเป็นเงิน 48,960,000 บาท ในส่วนของสิ่งก่อสร้างเป็นเงิน 28,312,000 บาท รวมราคาประเมินทั้งหมด 77,272,000 บาท ดังนั้นราคาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น จึงไม่ควรจะน้อยกว่าราคาที่ดิน 32 โฉนด การที่จำเลยที่ 1 และบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ตกลงขายที่ดินของตนให้แก่จำเลยที่ 3 ไปพร้อมกัน ในราคารวมทั้งหมด 220,000,000 บาท แม้การเจรจาตกลงกำหนดราคาซื้อขายสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น และที่ดิน 32 โฉนด เป็นไปโดยความสมัครใจของคู่สัญญา แต่นายพลหรือพลวัฒน์หรือชนโชติประสิทธิ์ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 และนายประสงค์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ให้ไปเจรจาการซื้อขาย พยานจำเลยที่ 3 เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 2 ยืนยันว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 และบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ว่าต้องขายรวมกันทั้ง 33 โฉนด และตกลงกันได้ในราคา รวม 220,000,000 บาท จำเลยที่ 3 ไม่ได้สนใจว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น กับที่ดิน 32 โฉนดจะกำหนดราคากันอย่างไร การกำหนดราคาแต่ละส่วนนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ขายกำหนดให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ซึ่งมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า การกำหนดราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น ของจำเลยที่ 1 และที่ดิน 32 โฉนดของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้กำหนดโดยการรู้เห็นของจำเลยที่ 1 โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ก็มิได้เกี่ยวข้อง เพียงแต่อนุมัติตามที่จำเลยที่ 1 และบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด เสนอมา จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ถึงประมาณร้อยละ 99 ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 คือเจ้าของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ทรัพย์สินของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด เปรียบเสมือนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นผู้ร่วมกันกำหนดราคาซื้อขายทรัพย์สินทั้ง 2 รายการดังกล่าว แม้การกำหนดราคาจะเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ตกลงอนุมัติให้ผู้จำนองไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 ราคาไม่ต่ำกว่า 77,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา MLR ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2548 เท่ากับ 9,206,773.97 บาท รวมเป็นเงิน 86,206,773.97 บาท ส่วนที่ดินที่เหลือ 32 โฉนด ให้ไถ่ถอนจำนองไม่ต่ำกว่า 73,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา MLR ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2546 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2548 เท่ากับ 8,728,500 บาท รวมเป็นเงิน81,728,500 บาท ตามข้อเสนอของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ใช่ข้อบังคับให้จำเลยที่ 1 และบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ต้องขายทรัพย์สินดังกล่าวของตนในราคาดังกล่าว และเป็นที่เห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมอาคาร 12 ชั้น ในราคาที่สูงกว่าราคาที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทจำกัด กำหนดไว้สำหรับการไถ่ถอนจำนอง จำนวนเงินส่วนที่เกินย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ในทำนองเดียวกัน หากราคาขายที่ดิน 32 โฉนด สูงกว่าราคากำหนดไว้สำหรับการไถ่ถอนจำนอง จำนวนเงินส่วนเกินจากการไถ่ถอนจำนอง ย่อมตกเป็นของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ซึ่งก็คือจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่สามารถบังคับมาชำระหนี้แก่ตนได้เพราะถือว่าไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้แทนคนหนึ่งของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 3 ตกลงขายที่ดินรวม 33 โฉนดรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 220,000,000 บาท โดยกำหนดราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 86,206,773.97 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระเพื่อไถ่ถอนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ส่วนจำนวนเงินส่วนที่เหลือ 133,973,226.03 บาท เพื่อให้เท่ากับราคาขายรวม 33 โฉนด 220,000,000 บาท กำหนดเป็นราคาซื้อขายของที่ดิน 32 โฉนด ของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด แล้วดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการจงใจกำหนดราคาขายที่ดินในโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เท่ากับจำนวนเงินพอดีที่จะนำไปไถ่ถอนจำนอง โดยไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่มีเงินส่วนเกินจากการขายที่ดิน 32 โฉนด เป็นเงินประมาณ 40,000,000 บาท ตกเป็นทรัพย์สินของบริษัทสุขุมเชิดชื่นทาวเวอร์ จำกัด เห็นได้ชัดว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการร่วมกันกระทำโดยมีความประสงค์เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน จำเลยที่ 2 เป็นหญิงอายุกว่า 80 ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2945/2547 ของศาลอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share