คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดและการรับประกันภัยค้ำจุนซึ่งทำให้โจทก์แต่ละคนเสียหาย แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละไม่ถึงสองแสนบาทและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน การที่จำเลยทั้งสองฎีกาให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรกที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คนขับรถของโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วยค่าต่อตัวถังกับห้องเย็นรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน100,000 บาท และรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไม่เสื่อมสภาพนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2421 สงขลา ไว้จากโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-0550 สงขลา จำเลยที่ 2เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ 13พฤษภาคม 2528 ขณะที่นายชาญขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2427 สงขลาไปถึงที่เกิดเหตุ นายผ่องซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-0550 สงขลา ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1ด้วยความประมาทเลินเล่อชนกับรถยนต์ที่นายชาญขับ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายชาญขับได้รับความเสียหายอย่างมาก โจทก์ที่ 1นำรถยนต์ไปซ่อมเสียค่าใช้จ่าย 92,805 บาท โจทก์ที่ 2 เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมตู้เย็นที่ติดกับตัวรถ 148,657 บาท ค่าจ้างรถยนต์คันอื่นในการบรรทุกสินค้าแทนระหว่างนำรถยนต์ไปซ่อม 60,000 บาทค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 228,657 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน96,285 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 245,806 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพราะรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2421 สงขลา ไม่ได้เป็นของโจทก์ที่ 2 เหตุรถยนต์ชนกันเกิดขึ้นเพราะนายชาญขับรถยนต์ด้วยความประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียว นายผ่องไม่ได้มีส่วนประมาทด้วยโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง รถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2421 สงขลา หากเสียหายก็ไม่เกิน 20,000 บาทและไม่เสื่อมสภาพการซ่อมใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน ค่าจ้างรถยนต์คันอื่นบรรทุกสินค้าแทนไม่เกิน 5,000 บาท แต่โจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องจ้างรถยนต์คันอื่นมาบรรทุกสินค้าแทนเพราะเป็นความผิดพลาดของโจทก์ที่ 1 ที่ทำการซ่อมล่าช้า และโจทก์ที่ 2 ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองโดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนวนไม่เกิน 250,000 บาท โดยชำระให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 92,805 บาทให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 183,657 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 92,805 บาทให้แก่โจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าว (วันที่25 ตุลาคม 2528) และในต้นเงิน 183,657 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 13 พฤษภาคม 2528) เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนตามลำพังฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดและการรับประกันภัยค้ำจุนซึ่งทำให้โจทก์แต่ละคนเสียหาย แม้จะฟ้องรวมกันมาเป็นเงินรวมทั้งสิ้น342,091 บาท ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน โดยโจทก์ที่ 1เรียกค่าเสียหายจำนวน 96,285 บาท โจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหายจำนวน245,806 บาท แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 92,805 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2528 และโจทก์ที่ 2 จำนวน 183,657 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2528 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนดังนั้น ค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนได้รับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท การที่จำเลยทั้งสองฎีกา ขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นพิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายชาญคนขับรถของโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย ค่าต่อตัวถังกับห้องเย็นรถยนต์บรรทุกของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 100,000 บาท และรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไม่เสื่อมสภาพนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่านายชาญไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าต่อตัวถังกับห้องเย็นรถยนต์บรรทุกเป็นเงิน 175,000 บาทและรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสื่อมสภาพเพราะซ่อมแซมแล้วไม่ดีเหมือนเดิม จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share