คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3472/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องขัดทรัพย์เป็นเสมือนหนึ่งคำฟ้องโดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์มีฐานะเป็นจำเลย คำร้องขัดทรัพย์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขัดทรัพย์แล้วมีคำสั่งว่าทรัพย์สินตามคำร้องขัดทรัพย์ยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ ยกคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับโดยลงชื่อผู้พิพากษา 2 คน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) แล้วหากผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นผู้ร้องย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ได้ และต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องด้วย ถ้าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์เป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์ก็ต้องเสียตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาเช่นเดียวกับในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่งศาลจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดต่อเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องหรือศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือฎีกาโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์หรือฎีกาแต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาดังกล่าวมาแล้ว ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5) และ161 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์แล้วจำเลยไม่ยอมชำระเงินตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยรวม 7 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดชำระหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง มิใช่เป็นของจำเลย ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน
เมื่อครบกำหนด ผู้ร้องมิได้นำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ชำระตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีดังกล่าว
ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 3ที่จะพิจารณาสั่งคำร้องเรื่องทิ้งฟ้องอุทธรณ์ จึงได้เพิกถอนคำสั่งเดิมที่สั่งจำหน่ายคดีชั้นอุทธรณ์และคำสั่งรับอุทธรณ์ฉบับลงวันที่3 มีนาคม 2541 ของผู้ร้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลอุทธรณ์ 200 บาทแก่ผู้ร้อง พร้อมทั้งส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาสั่งเรื่องนี้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องได้วางเงินค่าฤชาธรรมเนียมขณะยื่นคำร้องขัดทรัพย์เป็นเงิน 177,132.50 บาทครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาศาลชั้นต้นยกคำร้องแต่คดียังไม่ถึงที่สุดเพราะผู้ร้องได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น และการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งผู้ร้องไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมตามทุนทรัพย์เดิมอีกนั้นเห็นว่า การยื่นคำร้องขัดทรัพย์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี และเมื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดาคำร้องขัดทรัพย์จึงเป็นเสมือนหนึ่งคำฟ้องโดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์มีฐานะเป็นจำเลยคำร้องขัดทรัพย์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องการที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขัดทรัพย์แล้วมีคำสั่งว่าทรัพย์สินตามคำร้องขัดทรัพย์ยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ ยกคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับโดยลงชื่อผู้พิพากษา 2 คน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131(2) แล้วหากผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้น ผู้ร้องย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่มีอำนาจได้ตามกฎหมายและต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องด้วยถ้าทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์เป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์ก็ต้องเสียตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาเช่นเดียวกับในศาลชั้นต้น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสองผู้ร้องจะอ้างว่าไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูกคือค่าขึ้นศาล)ตามทุนทรัพย์เดิมอีกหาได้ไม่ และที่ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นยกคำร้องขัดทรัพย์จะต้องคืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 เมื่อศาลชั้นต้นไม่คืนให้แก่ผู้ร้อง จึงเท่ากับผู้ร้องได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลแล้วนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่งศาลจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดดังที่ผู้ร้องอ้างต่อเมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องหรือศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์หรือฎีกาโดยยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์หรือฎีกา แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีโดยทำเป็นคำพิพากษาดังกล่าวมาแล้ว ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(5), 161 วรรคหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ต่อศาลดังที่ผู้ร้องฎีกา ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีเจตนาทิ้งฟ้องอุทธรณ์เพราะขณะที่เจ้าหน้าที่นำหมายแจ้งคำสั่งไปปิดไว้ที่บ้านผู้ร้องนั้น ผู้ร้องไปประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดชุมพรกลับมาถึงบ้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งล่วงเลยเวลาที่ศาลกำหนดไปแล้วนั้น เห็นว่าเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นนำหมายแจ้งคำสั่งของศาลไปส่งให้แก่ผู้ร้องที่ภูมิลำเนาของผู้ร้องโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2540 ผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งว่าการส่งหมายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นตามกฎหมายแล้วที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องไม่ทราบคำสั่งศาล เพราะผู้ร้องไปประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดชุมพรเมื่อกลับมาถึงบ้านก็ล่วงเลยเวลาที่ศาลกำหนดไปแล้วนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะรับฟังว่าผู้ร้องไม่ได้เจตนาทิ้งฟ้องอุทธรณ์เพราะหลังจากผู้ร้องกลับมาบ้านและทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แสดงเจตนาจะชำระเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า ผู้ร้องทิ้งฟ้องอุทธรณ์จึงชอบแล้วฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share