คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษพ.ศ.2539มาตรา6(3)ประกาศใช้บังคับมีผลให้จำเลยที่1ซึ่งได้รับพักการลงโทษเพื่อคุมประพฤติให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปและต่อมามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ50ปีพ.ศ.2539มาตรา4ประกาศใช้บังคับมีผลให้ล้างมลทินแก่จำเลยทั้งสองซึ่งได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับจึงเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา92,93ไม่ได้แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหาย และก่อคดีนี้ จำเลยทั้งสองซึ่งมีอายุเกินสิบเจ็ดปีแล้ว เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลให้ลงโทษจำคุก โดยจำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลจังหวัดตรังคดีอาญาหมายเลขแดงที่252/2532 ให้ลงโทษจำคุก 20 ปี ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอาญา คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2832/2534 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ในข้อหามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ทั้งเป็นความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 จำแนกไว้ในอนุมาตราเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดตรังพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในระหว่างจำเลยที่ 1 ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดแต่ได้รับอนุมัติให้ปล่อยตัวพักการลงโทษเพื่อคุมประพฤติส่วนจำเลยที่ 2 นั้นพ้นโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลอาญายังไม่ครบกำหนด 5 ปี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,371, 83, 91, 92, 93 ริบมีดปลายแปลงของกลาง เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย และนับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษตามคำพิพากษาดคีอาญาหมายเลขแดงที่ 252/2532 ของศาลจังหวัดตรัง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์จำคุกคนละ 10 ปีเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93เป็นจำคุก 15 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือนฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรปรับคนละ 100 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 15 ปี และปรับ100 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับ 100 บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน และปรับ 50 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และปรับ 50 บาทนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่252/2532 ของศาลจังหวัดตรัง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยทั้งสองในอัตราโทษขั้นต่ำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสองเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและตัวจำเลยทั้งสองแล้ว
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2539 มาตรา 6(3) ประกาศใช้บังคับมีผลให้จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับพักการลงโทษเพื่อคุมประพฤติ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป และต่อมามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ประกาศใช้บังคับมีผลให้ล้างมลทินแก่จำเลยทั้งสอง ซึ่งได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92, 93 ไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์ จำคุกคนละ 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาทจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี และปรับคนละ 50 บาท นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 252/2532 ของศาลจังหวัดตรัง คำขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share