คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่1มีหน้าที่แจ้งให้ผู้รับสินค้าปลายทางทราบถึงการที่เรือมาถึงจำเลยที่2ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยที่1เพื่อให้จำเลยที่1ไปติดต่อผู้รับใบตราส่งเท่านั้นจำเลยที่1ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปยังสถานที่เก็บหรือการเปิดตู้สินค้าถือไม่ได้ว่าจำเลยที่1เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งจำเลยที่1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ส่วนจำเลยที่3เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือและมอบให้จำเลยที่2โดยจำเลยที่2เป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนสินค้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าและเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าจำเลยที่2และที่3จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533บริษัทสยามสมุทรโฟรเซ่นฟู้ดส์ จำกัด ได้สั่งซื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วนเครื่องทำความเย็นจากบริษัทสก๊อตอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด ให้เป็นผู้ขนส่งมาทางทะเลบริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด ตกลงรับจ้างขนส่ง โดยร่วมกับบริษัทมิตซุย โอ.เอส.เค.ไลน์ส จำกัด ขนส่งสินค้าพิพาททางเรือเดินทะเลชื่ออัลลิเกเตอร์ไพรด์เมื่อเรือดังกล่าวมาถึงประเทศสิงคโปร์ ได้ขนถ่ายสินค้าพิพาทลงเรือเดชะภูมิมายังประเทศไทย โดยผู้ซื้อได้นำสินค้าพิพาทมาประกันภัยการขนส่งทางทะเลไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 637,737 บาท เนื่องจากในการขนส่งสินค้าดังกล่าวบริษัทผู้รับขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสิงคโปร์ไม่มีสาขาในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมขนส่งทอดสุดท้ายในประเทศไทย จำเลยทั้งสามตกลงเข้าเป็นผู้ร่วมขนส่งโดยจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้แจ้งกำหนดการมาถึงของสินค้าหรือเรือเดชะภูมิให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งทราบ เมื่อเรือเดชะภูมิมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ติดต่อส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อนำเรือเข้าจอดเทียบท่าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็จะทำการเปิดตู้สินค้าและขนสินค้าเข้าเก็บไว้ในโกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทยกับออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 จะแจ้งให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งนำใบตราส่งมาแลกใบสั่งปล่อยสินค้าซึ่งออกโดยจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บใบตราส่งจากผู้ซื้อ จำเลยทั้งสามจะได้รับบำเหน็จตอบแทนตามอัตราทางการค้าปกติของตน ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2533 เรือเดชะภูมิได้เข้าเทียบท่าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยและได้ทำการขนถ่ายสินค้าปรากฏว่าสินค้าพิพาทได้สูญหายไปจำนวน 4 หีบห่อ คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 562,385.05 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่ผู้ซื้อ จึงรับช่วงสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งดังกล่าวให้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 562,385.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ใช่เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทตามฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของบริษัทดิสตริบิวชั่นเซอร์วิส จำกัด ในการแจ้งให้ผู้ซื้อมารับใบสั่งปล่อยสินค้าของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงพยานในการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ และจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ได้รับแต่งตั้งจากผู้ขนส่งสินค้าช่วงดินแดนไต้หวันมายังท่าเรือกรุงเทพให้ทำพิธีการเกี่ยวกับการนำเรือเข้าเทียบท่าในราชอาณาจักรแทนเรือเดชะภูมิไม่ได้ไปขนตู้คอนเทนเนอร์รายนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะสินค้าพิพาทไม่ได้สูญหายระหว่างการขนส่งทางทะเลดังกล่าว แต่ผู้ส่งส่งสินค้ามาไม่ครบ โดยในการขนส่งสินค้าพิพาทผู้ส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ด้วยตนเอง ผู้ขนส่งจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง บริษัทมิตซุย โอ.เอส.เค.ไลน์ส จำกัดได้ขนตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวมายังประเทศไทย โดยตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อย ตราผนึกไม่ได้ถูกทำลาย สินค้าพิพาทที่สูญหายนั้นคิดเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท และมีข้อตกลงจำกัดความรับผิดในใบตราส่งให้รับผิดไม่เกินหีบห่อละ 100 ปอนด์สเตอร์ลิงรวมเป็นเงิน 400 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่านั้น ไม่ใช่จำนวน 562,385 บาทคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 562,385 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 สิงหาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้ร่วมขนส่ง จึงไม่ต้องรับผิด เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยทั้งสามข้างต้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่แจ้งให้ผู้รับสินค้าปลายทางทราบถึงการที่เรือมาถึง จำเลยที่ 2 ออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ 1เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปติดต่อผู้รับใบตราส่งเท่านั้น จำเลยที่ 1ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าจากเรือไปยังสถานที่เก็บหรือการเปิดตู้สินค้า จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 1ฟังขึ้น ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3เบิกความเจือสมกับพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเดชะภูมิและมอบให้จำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 เป็นผู้เปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้วขนสินค้าไปเก็บไว้ในคลังสินค้าของการท่าเรือฯ และเป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำค่าใช้จ่ายอีก 10 เปอร์เซ็นต์รวมเข้าเป็นค่าเสียหายด้วยไม่ถูกต้องปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สินค้าพิพาทไม่ได้สูญหายในช่วงการขนส่งระหว่างประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทยจึงไม่ใช่เป็นการสูญหายระหว่างการขนส่งของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิด จึงน่าเชื่อว่าได้มีการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าครบถ้วน เมื่อปรากฏว่าสินค้าสูญหายไป 4 หีบห่อ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายไประหว่างการขนส่งของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกา จำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share