คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 457/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์คำสั่งว่า “รับฎีกาคำสั่ง สำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่ง การส่งไม่มีผู้รับให้ปิดหมาย” และสั่งในคำร้องขออุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า “อนุญาต” โดยไม่ได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลย ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ดังกล่าวแก่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยอุทธรณ์มีโอกาสคัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันกู้ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่นับถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540) ต้องไม่เกิน 10,575 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งบุตรของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยึดให้โดยทำหนังสือขอปลดเปลื้องความรับผิดต่อศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ยื่นคำร้องว่า คำขอปลดเปลื้องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการขอปลดเปลื้องความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่มีต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 283 และเป็นกรณีที่มิใช่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียว การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตโดยไม่เปิดโอกาสให้โจทก์คัดค้านก่อน จึงไม่ชอบ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งสำเนาคำขอปลดเปลื้องความรับผิดแก่โจทก์และนัดไต่สวนคำร้องต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยให้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาลชั้นต้นพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายก็ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด สำหรับคดีนี้โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 ศาลชั้นต้นสั่งให้อุทธรณ์คำสั่งว่า “รับฎีกาคำสั่ง สำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่งการส่งไม่มีผู้รับให้ปิดหมาย” และสั่งในคำร้องขออุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า “อนุญาต” โดยไม่ได้สั่งให้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลย ต่อมาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ศาลชั้นต้นได้ออกหมายนัดโดยให้ส่งเพียงสำเนาอุทธรณ์คำสั่งให้แก่จำเลย และจำเลยได้รับแล้วในวันที่ 4 กันยายน 2547 ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ดังกล่าวแก่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยอุทธรณ์มีโอกาสคัดค้านก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้องตาม มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ใหม่แล้วดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามขั้นตอนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง ต่อไป

Share