แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ซึ่งมิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 และมิได้เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามบทกฎหมายดังกล่าว เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลยนั้น เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับพิจารณาให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗, ๑๐๒, ๑๐๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗, ๗๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ กับขอให้ริบเฮโรอีน อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพข้อหามีโฮโรอีนไว้ในครอบครอง และมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปฏิเสธข้อหามีเฮโรอีนไว้เพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ จำคุกจำเลยทั้งสองกระทงแรกคนละ ๘ ปี กระทงที่สองคนละ ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๖ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗๒ จำคุก ๒ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๘ ปี ลงโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๕ ปี ๔ เดือน ของกลางริบ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเฮโรอีน ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำคุกกระทงละ ๑๐ ปี รวมจำคุก ๒๐ ปี รวมโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ด้วยเป็นจำคุก ๒๒ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑๔ ปี ๘ เดือน ข้อหาสำหรับจำเลยที่ ๑ ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ ตั้งทนายแก้ต่างไว้แล้ว แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ ๒ ทำฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เอง โดยจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และมีนักโทษในเรือนจำเดียวกับจำเลยที่ ๒ อีก ๒ คน ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน โดย น.ช.สมพงษ์ ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียง น.ช.อาภาชัย ลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียนหรือพิมพ์ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๓ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ที่ขาดจากการเป็นทนายความ หรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความ ว่าความในศาลหรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา ๓๓ นี้ มีโทษทางอาญาตามมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว น.ช.สมพงษ์มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๓ การที่ น.ช.สมพงษ์เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลยที่ ๒ จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายฎีกาของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับพิจารณาให้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ ๒