คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 332/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกตัวผู้ยื่นรายการที่มีเหตุควรเชื่อว่ายื่นไม่ถูกต้องตามความจริงมาไต่สวน แล้วแก้เพิ่มเติมจำนวนเงินที่ยื่นรายการไว้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20 หาจำต้องรับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน ดังมาตรา 86 ไม่ เพราะมาตรา 86 เป็นเรื่องเจ้าพนักงานประเมินกำหนดยอดเงินที่จะต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีขึ้นเรียกเก็บเอาเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง สำนวนที่ ๑ ว่าเป็นเจ้าของโรงสีรับจ้างสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร โดยคิดค่าจ้างเป็นรำข้าว ข้าวเปลือกเกวียนหนึ่งได้ค่าจ้างเป็นรำข้าวคิดเป็นเงิน ๒๐ บาท ไม่มีการซื้อข้าวเปลือกมาสีขาย โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๑ ของรายรัยตามประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์ได้รวบรวมรายได้ทั้งหมดกรอกแสดงรายการต่อเจ้าหน้าที่อำเภอทุกเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง ๒๕๐๐ ครั้นเดื่อนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งต่อโจทก์ว่า ภาษีการค้าประจำปีดังกล่าวโจทก์เสียน้อยไป จึงประเมินภาษีการค้าของโจทก์เพิ่มเติม และเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากโจทก์โดยไม่มีหลักฐานตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๒๒ รวม ๔ ปี เป็นเงิน ๑๕,๐๓๑.๓๒ ่บาท ให้โจทก์นำเงินภาษีไปชำระต่อเจ้าพนักงานภายใน ๓๐ วัน อันเป็นการประเมินไม่ชอบ โดยมิได้ประเมินจากยอดรายรับอันแท้จริงของโจทก์ ทั้งเป็นการประเมินยอดรายรับเอาเองตามอำเภอใจของจำเลยที่ ๑ เป็นการกำหนดจำนวนเงินขึ้นโดยพลการ มิได้ขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา ๔๙, ๘๖ โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อจำเลยที่ ๒ ตามมาตรา ๓๐ ต่อมาโจทก์ได้รับคำชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ประเมินชอบแล้ว โจทก์ชำระเงินที่ประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ขอให้พิพากษาสั่งยกเลิกการประเมินภาษีการค้าเพิ่มเติมของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ต้องให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มเติมต่อไป และยกเลิกคำชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ กับให้จำเลยคืนภาษีการค้าที่เรียกเก็บเพิ่มตามฟ้องแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องสำนวนที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่องภาษีเงินได้ซึ่งโจทก์ได้จากการขายรำข้าวเป็นค่าจ้างสีข้าวของโรงสีโจทก์ ว่าจำเลยที่ ๑ ประเมินเพิ่มเติมโดยการทำนองเดียวกับสำนวนที่ ๑
จำเลยให้การต่อสู้ทั้งสองสำนวนใจความว่า จำเลยที่ ๑ ประเมินเก็บค่าภาษีจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙, ๒๐ มิใช่มาตรา ๘๖ เพราะภาษีที่โจทก์ชำระไปแล้วไม่ตรงต่อความจริง และน้อยกว่าที่โจทก์ได้รับจริง จำเลยที่ ๑ ได้ไปตรวจหลักฐานและโจทก์รับสารภาพแล้ว จึงได้ประเมินเรียกค่าภาษีเพิ่มเติมจากโจทก์ตามอำานาจ จำเลยที่ ๒ เห็นว่า การประเมินของจำเลยที่ ๑ ชอบแล้ว ขอให้กยฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ ประเมินภาษีเพิ่มจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙, ๒๐ โดยมีคำรับสารภาพของโจกท์โดยสมัครใจ และจากการสอบสวนหลักฐานที่ปรากฏ จำเลยที่ ๑ จึงมีอำนาจประเมินได้ จำเลยที่ ๒ ชี้ขาดอุทธรณ์โจทก์โดยชอบ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สรรพากรจังหวัดอ่างทองได้ไปตรวจกิจการโรงสีของโจทก์ โจทก์นำบัญชีการค้าแบบ ภ.ค. ๑๑ และ ภ.ค. ๑๑ ก. กับสำเนาใบรับเงินมาให้ตรวจ ต่อมาสรรพากรจังหวัดได้เรียกโจทก์ไปสอบยังที่ทำการสรรพากร โจทก์ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการขายข้าวสารของโจทก์เองและรำข้าวที่โจทก์รับจ้างสีข้าวใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง ๒๕๐๐ ปรากฏตามเอกสารซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ จำเลยที่ ๑ จึงแจ้งให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นสำหรับ พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง ๒๕๐๐ ตามรายการและจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ยกอุทธรณ์ อ้างว่าเป็นการกระทำไปตามอำนาจที่มีอยู่ตามมาตรา ๒๐ ที่ได้เรียกเก็บจากหลักฐานคำรัรบสารภาพของโจทก์ นับว่ามีพยานหลักฐานประกอบชอบแล้ว จึงมีปัญหาว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีมีอำานาจประเมินเรียกเก็บเพิ่มจากโจทก์โดยไม่ขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรได้หรือไม่ ตามประมวลรัษฎากรมาตราา ๑๙ บัญญัติความว่า ถ้าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และตามมาตรา ๒๐ มีว่า
เมื่อได้จัดการตามมาตรา ๑๙ แล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ ส่วนมาตรา ๘๖ มีว่า ในกรณีที่ผุ้ประกอบการค้ามิได้ยื่นรายการหรือยื่นรายการไม่มีภาษีต้องเสีย หรือเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า ผู้ประกอบการค้ายื่นรายการเสียภาษีต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี มีอำนาจที่จะกำหนดยอดเงินที่จะต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีขึ้น โดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครอง ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้ชำระเงินภาษีการค้าและภาษีเงินได้ต่อเจ้าหน้าที่อำเภอทุกปีแล้ว แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินภาษีเห็นว่า ที่โจทก์ยื่นรายการเสียภาษีไว้นั้นต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสียตามที่ปรากฏจากการตรวาจสอบไต่สวนและคำรับสารภาพของโจทก์ จึงมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเพิ่มเติมอีก เช่นนี้ เป็นอำนาจที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีกระทได้โดยมีเหตุอันควรเชื่อตามมาตรา ๑๙ ไม่ต้องรับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
ในเมื่อรายการที่โจทก์ทำยื่นไว้แล้วไม่ถูกต้องตามความจริง และในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพกรตามมาตรา ๘๖ เนื่องจากเจ้าพนักงานไม่ได้ใช้อำนาจกำหนดยอดเงินที่จะต้องคำนวณเพื่อเสียภาษีขึ้นเรียกเก็บจากโจทก์เอาเอง เพราะที่แท้จริงแล้ว ยอดเงินนั้นโจทก์เป็นผูรับสารภาพแสดงออกมาเอง การปฏิบัติของเจ้าพนักงานประเมินและผู้ว่าราชการจังหวัดจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share