แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ประเด็นที่โจทก์ จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมโต้เถียงกันในชั้นฎีกามีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สาธารณประโยชน์ โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาท แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์ จำเลยร่วมย่อมมีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาและจัดการตามกฎหมาย อันมีผลให้จำเลยทั้งห้ามีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการด้วย ดังนั้น ประโยชน์ที่โจทก์ได้ตามฟ้องหรือประโยชน์ที่จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมได้ตามคำให้การ รวมทั้งประโยชน์ที่จำเลยทั้งห้าได้ตามฟ้องแย้งย่อมเป็นกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของแห่งที่ดินพิพาท จึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะมีคำขอห้ามจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท และจำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมาด้วย ก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากประเด็นหลักเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเป็นจำนวนไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันให้มีการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงบริเวณโรงเรียนบ้านหวายน้อย และได้ปักแนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของโรงเรียนรวมเข้ากับที่ดินที่จะขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงด้วย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 216 หมู่ที่ 5 ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งห้ามีคำสั่งยกเลิกคำสั่งดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าเกี่ยวข้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกกระทรวงการคลังเข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าโจทก์อาจฟ้องหรืออาจถูกกระทรวงการคลังฟ้องเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกได้เมื่อโจทก์ชนะคดีแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมให้การและจำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์ไม่อาจยกอายุความการครอบครองปรปักษ์มาต่อสู้เอาที่ดินดังกล่าวได้ จำเลยทั้งห้าไม่ได้ชี้แนวเขตรังวัด ปักหลัก หรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อรุกล้ำที่ดินของโจทก์ เพราะเป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการและถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง และห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องจากบิดาโจทก์ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 60 ปี จึงได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 216 หมู่ที่ 5 ตำบลมะบ้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมเข้าเกี่ยวข้อง ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งห้า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 โจทก์ถึงแก่ความตาย นางคำบง แก่นนาคำ ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครองเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ราคาประมาณ 60,000 บาท จำเลยทั้งห้าร่วมกันดำเนินการรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินพิพาทเพื่อเอาที่ดินพิพาทรวมเข้ากับที่ดินที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ห้ามจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้อง และขอให้เรียกกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นจำเลยร่วม เมื่อจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมให้การและจำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันชื่อป่าดอนหนองสระพัง ขอให้ยกฟ้องและห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง ดังนี้ ประเด็นที่โจทก์ จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมโต้เถียงกันในชั้นฎีกามีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สาธารณประโยชน์ โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาท แต่หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณประโยชน์ จำเลยร่วมย่อมมีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาและจัดการตามกฎหมาย อันมีผลให้จำเลยทั้งห้ามีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการด้วย ดังนั้น ประโยชน์ที่โจทก์ได้ตามฟ้องหรือประโยชน์ที่จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมได้ตามคำให้การรวมทั้งประโยชน์ที่จำเลยทั้งห้าได้ตามฟ้องแย้งย่อมเป็นกรณีพิพาทกันด้วยเรื่องความเป็นเจ้าของแห่งที่ดินพิพาทจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อันเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะมีคำขอห้ามจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและจำเลยทั้งห้าฟ้องแย้งห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทมาด้วยก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากประเด็นหลักเรื่องที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เมื่อราคาทรัพย์หรือจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเป็นจำนวนไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมฎีกาว่า พยานหลักฐานจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมมีน้ำหนักมากกว่าฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วม คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วม