คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับเดือนที่จำเลยกระทำผิดจากเดือนกรกฎาคม 2530เป็นเดือนพฤษภาคม 2530 ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดเหตุจริงตามที่พยานโจทก์เบิกความ เมื่อปรากฏว่าจำเลยให้การปฏิเสธลอย แม้จำเลยจะนำสืบว่าเดือนกรกฎาคม 2530 จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำก็เป็นการถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยหลงต่อสู้ ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 339 วรรคสอง, 340 ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339 วรรคสองประกอบมาตรา 340 ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 15 จำคุก 15 ปี ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับวันเกิดเหตุ เป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยหลงต่อสู้นั้นเห็นว่า ในตอนที่จำเลยให้การจำเลยเพียงแต่ให้การปฏิเสธลอย ในวันสืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนของเดือนเกิดเหตุจากเดือนกรกฎาคม 2530 เป็นเดือนพฤษภาคม 2530ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดเหตุจริง ตามที่พยานโจทก์เบิกความ แม้จำเลยจะนำสืบว่าเดือนกรกฎาคม 2530 จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก็เป็นการถูกขังระหว่างสอบสวนคดีนี้นั่นเอง การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมิได้ทำให้จำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใด”
พิพากษายืน

Share