แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่ใช่เหตุผลที่บ่งชี้แน่นอนว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเสมอไป ต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดี คดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับผู้ตายมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนแต่ก็เป็นสาเหตุตั้งแต่เมื่อประมาณ 1 ปี มาแล้ว แม้ปรากฏว่ายังคงโกรธเคืองกันตลอดมาก็ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดว่าจำเลยมีความคิดจะฆ่าผู้ตายมาตลอดได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจำเลยก็สามารถจะทำได้ง่ายและคงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปนานเป็นปีจึงเพิ่งมาก่อเหตุคดีนี้ การที่จำเลยมาพบเห็นผู้ตายนั่งดื่มสุราที่บ้านของ ส. ในคืนวันเกิดเหตุนั้นจึงเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ซึ่งหากพบแล้วจำเลยเกิดความต้องการที่จะแก้แค้นผู้ตายโดยจำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและใช้อาวุธปืนนั้นยิงผู้ตายในขณะนั้นย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองทบทวนก่อนเลย ดังนั้น ที่จำเลยกลับไปบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อเอาอาวุธปืนมายิงผู้ตายก็ไม่แตกต่างกับที่จำเลยยิงผู้ตายในทันทีที่พบเห็นแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 289 (4), 371 และริบของกลาง
ระหว่างพิจารณา นางลำไย มารดาของนายสมนึก ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมสามกระทง ให้ลงโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียว ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายสมนึก ผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า นายสุนทร เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ กับนายสมคิด น้องชายของผู้ตาย ซึ่งเป็นพยานโจทก์ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย อันจะเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย จึงเชื่อว่าพยานทั้งสองต่างเบิกความไปตาม ที่รู้เห็นมาจริง พยานทั้งสองรู้จักจำเลยมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสมคิดเป็นญาติกับจำเลยโดยจำเลยเป็นพี่เขยของนายสมคิด และต่างมีโอกาสเห็นคนร้ายถึง 2 ครั้ง จึงเชื่อได้ว่าสามารถเห็นและจดจำหน้าคนร้ายได้ ประกอบกับโจทก์และโจทก์ร่วมมีคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุชาติและนายประจักษ์ซึ่งนั่งร่วมวงดื่มสุราอยู่กับผู้ตายและนายสุนทรกับนายสมคิดขณะเกิดเหตุ ซึ่งต่างให้การยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันกับคำเบิกความของพยานทั้งสองมานำสืบสนับสนุน ทำให้คำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งสองมีน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่เห็นว่า การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนไม่ใช่เหตุผลที่บ่งชี้แน่นอนว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเสมอไป ต้องขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดี ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความว่าจำเลยกับผู้ตายมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนแต่ก็เป็นสาเหตุตั้งแต่เมื่อประมาณ 1 ปี มาแล้ว แม้ปรากฏว่ายังคงโกรธเคืองกันตลอดมาก็ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดว่าจำเลยมีความคิดจะฆ่าผู้ตายมาตลอดได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจำเลยก็สามารถจะทำได้ง่ายและคงไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปนานเป็นปีจึงเพิ่งมาก่อเหตุคดีนี้ โดยจำเลยย่อมมีโอกาสที่จะฆ่าผู้ตายได้ก่อนหน้านี้เช่นจำเลยอาจขับรถไปยิงผู้ตายที่บ้านของผู้ตายเองหรือที่บ้านของมารดาผู้ตายซึ่งห่างจากบ้านของจำเลยเพียง 100 เมตร ทั้งควรหาโอกาสยิงผู้ตายขณะผู้ตายอยู่เพียงลำพังได้โดยไม่ต้องมายิงต่อหน้าผู้คนซึ่งทำให้มีพยานรู้เห็นหลายคนเช่นนี้ จากคำเบิกความของนายสุนทรและจำเลยก็ได้ความตรงกันว่า บ้านของนายสุนทรซึ่งเป็นบ้านที่เกิดเหตุอยู่ใกล้กับบ้านจำเลย โดยอยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร เวลาจำเลยกลับบ้านจะต้องผ่านบ้านที่เกิดเหตุด้วย ดังนั้นการที่จำเลยมาพบเห็นผู้ตายนั่งดื่มสุราที่บ้านของนายสุนทรในคืนวันเกิดเหตุนั้นจึงเป็นเพียงเหตุบังเอิญ ซึ่งหากพบแล้วจำเลยเกิดความต้องการที่จะแก้แค้นผู้ตายโดยจำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยและใช้อาวุธปืนนั้นยิงผู้ตายในขณะนั้นย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันทันด่วนโดยจำเลยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองทบทวนก่อนเลย การที่จำเลยกลับไปบ้านเพื่อเอาอาวุธปืนมายิงผู้ตายก็ไม่แตกต่างกับที่จำเลยยิงผู้ตายในทันทีที่พบเห็นแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยคงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเท่านั้น ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมกับความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แล้ว คงจำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดฐานพาอาวุธปืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7