แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมเอกสารบัญชีนำจ่ายไปรษณีย์ท่าตะโกที่จำเลยมีหน้าที่ทำ กรอกหรือดูแลเอกสารนั้น โดยลงลายมือชื่อปลอมของ อ. ผู้เสียหายที่ 2 และ จ. ผู้เสียหายที่ 3 ในบัญชีนำจ่ายไปรษณีย์ท่าตะโก ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 161 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารไว้ครบถ้วนและประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวด้วย ศาลจึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่และวรรคหก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 157, 161, 163 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 4, 70 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 163 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 4, 70 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (ที่ถูก ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ) นั้น เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการทรัพย์ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเองโดยทุจริต จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 7 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 70 วรรคแรก และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยแต่ละกรรมเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ฐานเป็นพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา 90 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 18 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเป็นพนักงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 มีหน้าที่จ่ายไปรษณียภัณฑ์ พัสดุไปรษณีย์ ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ โทรเลขและธนาณัติให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการในท้องที่ตำบลท่าตะโก อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับมอบจดหมายลงทะเบียนจากผู้เสียหายที่ 1 แล้วไม่ยอมนำจ่ายให้แก่นายอนนท์ ผู้เสียหายที่ 2 และนางจำรูญ ผู้เสียหายที่ 3 ทั้งยังลงลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ปลอมเอกสารบัญชีนำจ่ายไปรษณีย์ท่าตะโกว่าได้นำจ่ายจดหมายลงทะเบียนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 แล้ว โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่นั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสาม และโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 157, 161, 163 (3) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 4, 70
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยปลอมเอกสารบัญชีนำจ่ายไปรษณีย์ท่าตะโกที่จำเลยมีหน้าที่ทำกรอกหรือดูแลเอกสารนั้น โดยลงลายมือชื่อปลอมของนายอนนท์ ผู้เสียหายที่ 2 และนางจำรูญ ผู้เสียหายที่ 3 ในบัญชีนำจ่ายไปรษณีย์ท่าตะโกขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 ถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารไว้ครบถ้วน และประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวด้วยและโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพซึ่งฟังได้ว่าจำเลยได้ปลอมลายมือชื่อของนายอนนท์ ผู้เสียหายที่ 2 และนางจำรูญ ผู้เสียหายที่ 3 ดังนั้น จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่และวรรคหก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยอีกกระทงละ 4,000 บาท รวม 3 กระทง ปรับ 12,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ให้จำเลยฟัง คุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6