แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับ มาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตัวคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว จึงเป็นการปรับจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11, 60, 65 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ให้ริบน้ำมันเบนซินกับจ่ายสินบนให้แก่ผู้แจ้งให้จับและเงินรางวัลให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานร่วมกันรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง และปฏิเสธข้อหาร่วมกันนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161 (ที่ถูก มาตรา 161 (1)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 11, 60, 65 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ 179,436 บาท และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานขับรถยนต์โดยไม่มีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายทะเบียน ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถโดยใบอนุญาตสิ้นอายุ ปรับ 1,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 90,718 บาท คงปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 89,718 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง กับให้ร่วมกันจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับในอัตราร้อยละ 30 และจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับในอัตราร้อยละ 25 ของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ โดยให้จ่ายเงินที่ได้จากการขายของกลางเมื่อคดีถึงที่สุด หากของกลางไม่อาจขายได้ จึงให้จ่ายจากค่าปรับที่จำเลยทั้งสองต้องชำระต่อศาล ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง เมื่อลดโทษแล้ว คนละ 89,718 บาท ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้มาตรา 27 ทวิ จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตัวคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง เมื่อลดโทษแล้ว คนละ 89,718 บาท จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรให้ถูกต้อง ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวม 179,436 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับรวม 89,719 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9