คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10588/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นมรดกของโจทก์ร่วม จำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทภายหลังเจ้ามรดกตาย โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีได้ แม้โจทก์ร่วมจะจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทภายหลังเกิดเหตุคดีนี้แล้วก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมร้องทุกข์ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาทภายใน 3 เดือนนับแต่โจทก์ร่วมรู้เรื่องการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว การที่โจทก์ร่วมแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลขที่โฉนดที่ดินพิพาทผิดพลาดเป็นเพียงรายละเอียด แม้ต่อมาจะมีการให้การเพิ่มเติมและส่งเอกสารเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในภายหลังโดยมีการแก้ไขเลขที่โฉนดให้ถูกต้องหลังจากพ้นกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่โจทก์ร่วมรู้ถึงการกระทำความผิด ก็ถือว่าการร้องทุกข์สมบูรณ์ตั้งแต่วันที่โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ครั้งแรกแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365, 358 และ 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธระหว่างพิจารณา นางจิณห์นิภา ผู้เสียหายที่ 3 นายพัฒนะ ผู้เสียหายที่ 2 และนายสุรศักดิ์ ผู้เสียหายที่ 5 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยเรียกนางจิณห์นิภาว่าโจทก์ร่วมที่ 1 นายพัฒนะว่าโจทก์ร่วมที่ 2 และนายสุรศักดิ์ว่าโจทก์ร่วมที่ 3 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และ 358 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เสียทรัพย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่าโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 เป็นผู้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 4470 ตามพินัยกรรมของนางพวง เมื่อนางพวง เจ้ามรดกถึงแก่ความตายที่ดินพิพาท จึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 ตามกฎหมาย โจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ แม้โจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 จะจดทะเบียนรับโอนมรดกภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนในปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 แจ้งความว่าทราบเหตุเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2544 โดยในขณะร้องทุกข์อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกที่ดินโฉนดเลขที่ 2515 แต่มีการให้การเพิ่มเติมและส่งเอกสารในภายหลังเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 ว่าเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 4470 คดีบุกรุกเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4470 จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่าโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2544 แม้ในขณะแจ้งความร้องทุกข์ผู้เสียหายจะระบุเลขที่โฉนดที่ดินที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกว่า เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 2515 แต่ที่ดินที่โจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 อ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุก ได้แก่ ที่ดินพิพาทในคดีนี้เท่านั้นซึ่งได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4470 จึงถือได้ว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2544 แล้ว มิใช่ถือเอาวันที่มีการให้การเพิ่มเติมและส่งเอกสารเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในภายหลัง ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายโจทก์ร่วมทั้งสาม ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 4 รู้เรื่องการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2544 แล้วยังอยู่ภายในระยะเวลา 3 เดือน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ดังนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 358 จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share