แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีใด ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ต้องยื่นคำร้องในคดีที่มีการบังคับคดีเท่านั้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอในคดีของตนเองเพื่อขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีอื่นหาได้ไม่ และตราบใดที่การบังคับคดีในคดีอื่นยังไม่ถูกเพิกถอน โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เรียกเงินที่ถูกอายัดในคดีดังกล่าวมาได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายกิตติผู้ตาย ชำระเงินตามเช็ค 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอายัดเงินฝากประจำบัญชีเลขที่ 1412186759 ของผู้ตาย จำนวน 202,054 บาท ไว้ชั่วคราวต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกินจำนวน 2,054 บาท ตามขอ แต่ทั้งนี้จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ส่งเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีดังกล่าว เจ้าพนังงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามที่ได้อายัดไว้ ขอให้เพิกถอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ในคดีหมายเลยแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีในคดีดังกล่าวขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในกรณีมีเหตุฉุกเฉินตามคำร้องของโจทก์ โดยให้อายัดเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 1412186759 ของนายกิตติผู้ตาย จำนวน 202,054 บาท ไว้ชั่วคราวต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2542 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม 2542 แจ้งการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำของผู้ตายดังกล่าว เพื่อเอาชำระหนี้โจทก์ ส่วนผู้คัดค้านยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย กับพวกรวม 3 คน เพื่อขอให้ชำระเงินตามตั๋วเงินจำนวน 600,000 บาท ในคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม แต่จำเลยที่ 1 กับพวก ไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2542 ผู้คัดค้านขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีอายัดเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 1412186759 ของผู้ตาย เพื่อเอาชำระหนี้ผู้คัดค้าน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2542 แจ้งการอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาท่าพระ ได้ส่งเงินตามหนังสือแจ้งการอายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2542 เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านก่อนว่า โจทก์ร้องขอในคดีนี้ให้เพิกถอนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า “…ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้… เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใด ๆ…ตามที่ศาลเห็นสมควร” เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ผู้ที่ร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีต้องร้องขอในคดีที่มีการบังคับคดีนั้น การที่โจทก์ร้องขอในคดีนี้ให้เพิกถอนการบังคับคดีของคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้และตราบใดที่การบังคับคดีหมายเลขแดงที่ 10188/2541 ของศาลชั้นต้นยังไม่ถูกเพิกถอน โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้เรียกเงินซึ่งถูกอายัดไว้ในคดีดังกล่าวมาได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน