คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1602/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมแล้ว ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมถูกโต้แย้งสิทธิในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมนั้นเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินแทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกวินิจฉัยได้เองตามมาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2534 จำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,480,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 5 กันยายน 2536 โดยจำเลยนำสิทธิการเช่าตึกแถวสามชั้น เลขที่ 98 ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มอบให้ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ ภายหลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามกำหนด โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 3,108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,480,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ความจริงแล้ว นายฤทธิศักดิ์ น้องชายจำเลยเป็นผู้กู้ยืม โดยกู้ยืมและได้รับเงินเพียง 1,000,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี มารวมกับต้นเงินกลายเป็นต้นเงินจำนวน 1,480,000 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญา นายฤทธิศักดิ์ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีกสองครั้ง และโจทก์นำดอกเบี้ยซึ่งคิดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมารวมกับต้นเงินและดอกเบี้ยเดิม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,827,592 บาท นายฤทธิศักดิ์ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายฤทธิศักดิ์ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยขอถือเอาคำให้การของจำเลยเป็นคำให้การของจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,480,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกคำร้องของจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยร่วมให้เป็นพับ (ที่ถูก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ)
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2534 จำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 สำหรับที่จำเลยร่วมอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมถูกโต้แย้งสิทธิในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยร่วมนั้นเป็นการไม่ชอบและถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กู้ยืมแต่ลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้แทนจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” และมาตรา 798 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย” เมื่อการทำนิติกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การนำสืบถึงการตั้งตัวแทนจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง จำเลยจึงไม่อาจนำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อที่ช่องผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 แทนจำเลยร่วม ปัญหาเรื่องข้อห้ามนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในพยานเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 กรณีจึงต้องฟังว่า จำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินโจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้เพียง 1,000,0000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด และจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วนั้น เห็นว่า เนื้อหาของฎีกาในประเด็นดังกล่าวในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนแต่คัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด โดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้ยกฎีกาของจำเลยร่วม ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วม และยกอุทธรณ์ของจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมให้เป็นพับ

Share