คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6810/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้มาตาม พ.ร.บ. จัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 นั้น ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันได้รับโอนที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และที่ดินประเภทนี้ก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่พิพาทโดยส่งมอบการครอบครองให้แก่กัน ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้จะเป็นสัญญาจะซื้อขาย และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันภายหลังเมื่อครบกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้วก็ตามก็เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 (เดิม),140 (ใหม่)
จำเลยฎีกาว่าคดีเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่ทำกินของประชาชนซึ่งมีราคาสูงขึ้น ผู้ทำสัญญาจะขายมักจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขาย ทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมในสังคม ศาลชอบที่จะหยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยนั้น เป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคแรก

Share