แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๔๙
วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความ ฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ศาลปกครองเชียงใหม่ได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่๑๙/๒๕๔๘ ระหว่าง นายสนิท กันทา ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๙๒ หมู่ ๖ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๗๕ ตารางวา ของบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัดโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ต้นปีพ.ศ.๒๕๒๕ โดยปลูกบ้านไว้อยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๒๐ ปีโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือโต้แย้งการครอบครองแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงได้ สิทธิครอบครองตามกฎหมายต่อมาวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการได้มา โดยการครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีไม่ได้นำหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับจริงมาแสดง เมื่อ ผู้ฟ้องคดียื่นขอออกใบแทน น.ส. ๓ เลขที่ ๙๒ ดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่ออกใบแทนให้โดยอ้างระเบียบกรมที่ดินประกอบกับมาตรา ๖๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่กำหนดให้เจ้าของที่ดินที่เป็นเจ้าของโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้นที่มีสิทธิขอออกใบแทนได้ ผู้ฟ้องคดีเคยตรวจสอบทางทะเบียนจากกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์แล้วปรากฏว่าบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด ได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเมื่อวันที่๒๙สิงหาคม ๒๕๓๗ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙๔/๒๕๔๗ ให้พิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับคำร้องเนื่องจากเห็นว่าผู้โต้แย้งสิทธิคือเจ้าพนักงานที่ดินผู้ฟ้องคดีจึงต้องฟ้องเจ้าพนักงานที่ดิน และตามคำร้องไม่ใช่กรณีที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้สิทธิทางศาล ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการได้มาด้วยการครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งโดยมิได้นำหลักฐานหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับผู้ถือไปแสดงด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ไม่ดำเนินการออกใบแทนและไม่รับจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดีเช่นเดิมโดยอ้างมาตรา ๗๒และมาตรา ๗๕ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่อ้างระเบียบในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมภายในบังคับของมาตรา ๗๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้นมาตราดังกล่าวบังคับใช้กับกรณีที่ได้ทรัพย์มาโดยนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา๑๒๙๙ วรรคหนึ่ง ที่คู่กรณีต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่ในกรณีของผู้ฟ้องคดีนั้นเป็นการได้ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๓๖๗, ๑๓๖๙ และ ๑๓๗๐ ซึ่งเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง ที่ต้องมีการจดทะเบียนจึงจะใช้ยันบุคคลที่สามได้ ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดินมาเกิน ๑ ปี จึงได้สิทธิตามกฎหมาย มีสิทธิขอออกใบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครอง ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ แจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าระเบียบของอธิบดีกรมที่ดิน ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่อ้างนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐มาตรา ๔๐, ๒๙ และมาตรา ๒๘ เป็นการสร้างขั้นตอนและภาระให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะ ผู้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยไม่ชอบ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามฝ่าฝืนต่อ ความเป็นจริงเป็นการยากที่จะให้ผู้ฟ้องคดีต้องขวนขวายหาเอกสารคู่ฉบับมาแสดง จึงฟ้องขอให้ยกเลิกระเบียบหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ปฏิบัติโดยไม่ออกใบแทนและไม่จดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้พิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์ได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการออกใบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๕ การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอสังหาริมทรัพย์ต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจดบันทึกสาระสำคัญลงใน น.ส. ๓ ฉบับสำนักงานที่ดินและฉบับเจ้าของที่ดินให้ตรงกัน และในการขอออกใบแทน น.ส. ๓ นั้น ผู้ขอออกจะต้องเป็นเจ้าของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๓ ประกอบหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓(พ.ศ. ๒๕๓๗) ข้อ ๑๒ และ ข้อ ๑๗ (๓) เมื่อ น.ส. ๓ เลขที่ ๙๒ มีชื่อบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด เป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองตามมาตรา๑๓๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และขอออกใบแทน น.ส. ๓ฉบับดังกล่าวโดยมิได้นำน.ส. ๓ ฉบับเจ้าของที่ดิน คำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว หรือเป็นกรณีศาลได้วิเคราะห์และวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีแล้วรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นมาแสดง พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่สามารถดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองและได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา ๑๓๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ซึ่งเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมายโดยฝ่ายเดียวไม่มีคู่กรณี จึงไม่อาจนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่พิพาทมาแสดงได้อีกทั้งผู้ฟ้องคดีไม่อาจมีคำขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งว่าตนได้มาโดยการครอบครองได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๗๙/๒๕๔๐ จึงไม่อาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดของศาลมาประกอบคำขอได้
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมว่า การจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ ผู้ขอจดทะเบียนต้องนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินมาแสดงต่อเจ้าพนักงาน ส่วนการออกใบแทน น.ส. ๓ต้องเป็นเจ้าของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเท่านั้นจึงจะขอออกใบแทนได้ คำสั่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ ๑๔๙๔/๒๕๔๗ ไม่ใช่คำสั่งหรือคำพิพากษาที่แสดงว่าผู้ฟ้องคดีได้สิทธิครอบครองในที่ดิน น.ส. ๓ ดังกล่าวโดยการแย่งการครอบครองอันจะทำให้มีสิทธินำคำสั่งศาลมาขอออกใบแทนตามกฎกระทรวง ฉบับที่๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) และผู้ฟ้องคดีชอบที่จะอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลได้ เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่นำหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการออกใบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้จึงเป็นการปฏิบัติ โดยชอบด้วยระเบียบกฎหมายทุกประการ
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่ศาลจะพิจารณาว่าระเบียบหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ได้สั่งวิธีปฏิบัติราชการในการออกใบแทนและการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่กรณีจึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖๑/๒๕๔๗
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดี ได้ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๙๒ ซึ่งมีชื่อบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้สิทธิครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่๓ไม่ดำเนินการให้โดยได้แจ้งต่อผู้ฟ้องคดีว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองตามมาตรา ๑๓๖๗ ให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่พิพาทมาแสดงและไม่สามารถออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวได้ตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี เพราะผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม น.ส. ๓ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ฟ้องคดีนี้และมีคำขอให้ศาลสั่ง เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ไม่จดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดี และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการออกใบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองในที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดี ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่กระทำการออกใบแทน น.ส. ๓ และมีคำสั่งไม่จดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้ การที่ศาลปกครองเชียงใหม่จะวินิจฉัยว่าระเบียบหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองในที่ดิน น.ส. ๓เลขที่ ๙๒ หรือไม่ก็ตาม แต่ในคดีนี้ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงแตกต่างจากคดีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖๑/๒๕๔๗ นอกจากนี้หากศาลปกครองเชียงใหม่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ผู้ฟ้องคดี ก็อาจไม่มีหนทางอื่นใดจะเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายได้ กล่าวคือผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลยุติธรรมเพื่อให้มีคำสั่งว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเพื่อนำคำสั่งไปแสดงต่อผู้ถูกฟ้องคดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้ใช้สิทธิดังกล่าวทางศาลได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๘/๒๕๓๗ ครั้นจะยื่นคำฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาทต่อศาลก็ปรากฏว่า บริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด ซึ่งเป็น ผู้ถือครองที่ดิน ตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙๒เป็นบริษัทร้าง ซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๗ กรณีนี้แม้จะสามารถขอให้ศาลยุติธรรมสั่งให้นายทะเบียนสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อให้คืนสถานะนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๖ (๖) ได้ แต่ผู้ร้องขอก็ต้องพิสูจน์เหตุตามที่บัญญัติคือ (๑) ขณะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด ยังทำการค้าหรือประกอบการอยู่ หรือ (๒) เพื่อความเป็นธรรมของผู้ร้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้แย่งการครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๙๒ จากบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด ดังนั้น ระหว่างบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด กับผู้ฟ้องคดีจึงไม่มี นิติสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ผู้ฟ้องคดีจะร้องขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนกลับจดชื่อ บริษัทบุญเลิศศรีสง่าจำกัด ให้คืนสภาพนิติบุคคลโดยอ้างเหตุเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี และแม้สมมติว่าศาลมีคำสั่งให้บริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด กลับคืนสภาพนิติบุคคล ผู้ฟ้องคดีก็ไม่อาจฟ้อง บริษัทบุญเลิศศรีสง่าจำกัด ต่อศาลเพื่อบังคับให้บริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองแก่ผู้ฟ้องคดีได้เพราะระหว่างผู้ฟ้องคดีกับบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๙-๒๑๐/๒๕๒๕ สิทธิในทรัพย์สินของบุคคลเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๘ ให้การรับรองคุ้มครอง อีกทั้งในมาตรา๒๘ วรรคสอง ยังได้รับรองสิทธิดังกล่าวว่าหากถูกละเมิดย่อมใช้สิทธิทางศาลได้ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้สิทธิครอบครองที่ดินน.ส. ๓ เลขที่ ๙๒ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๑๓๖๗ และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี จดทะเบียนสิทธิดังกล่าวลงใน น.ส. ๓ และออกใบแทน น.ส. ๓แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธจึงถือว่าผู้ฟ้องคดีถูกละเมิดสิทธิและสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ เมื่อคดีนี้ไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลยุติธรรมได้เนื่องจากมีข้อกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน แต่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่มีบทบัญญัติห้ามศาลปกครองวินิจฉัยประเด็นสิทธิในทรัพย์สิน ตรงกันข้ามกลับมีระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ๔๑ วรรคสอง ให้มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นที่เกี่ยวพันกันได้ จึงเห็นว่าแม้คดีนี้มีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่ต้องวินิจฉัยแต่ก็เป็นประเด็นเกี่ยวพันกันที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากความเห็นของศาลปกครองเชียงใหม่และเอกสารท้ายความเห็นดังกล่าวฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองที่ดินตามน.ส. ๓ เลขที่๙๒ หมู่ ๖ ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี ต่อมาไปยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนและขอออกใบแทนที่ดินแปลงดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่าไม่สามารถออกใบแทนและ จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ตามระเบียบของกรมที่ดิน และตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๓, ๗๒ และ ๗๕ ต่อมาผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามออกใบแทนและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการได้มาซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิธีปฏิบัติราชการและตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๓, ๗๒ และ ๗๕ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจะพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไปได้ ดังนั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์และสิทธิในทรัพย์สินที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘, ๑๓๗๕ และ ๑๓๘๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๙๒ หมู่ ๖ ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่๑ ไร่ ๒ งาน ๗๕ ตารางวา ของบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัด ซึ่งถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนตั้งแต่ ปีพ.ศ. ๒๕๓๗ ไว้โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๒๕ และไม่มีผู้ใดคัดค้านหรือโต้แย้งการครอบครอง จึงได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอโดยอ้างว่าขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๕ เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับจริงมาแสดง ทั้งไม่ยอมออกใบแทน น.ส. ๓ ให้เช่นกัน โดยอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓(พ.ศ. ๒๕๓๗) ว่าเจ้าของที่ดินที่เป็นเจ้าของโฉนดหรือหนังสือรับรอง การทำประโยชน์เท่านั้นที่มีสิทธิขอออกใบแทนได้ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่๑๔๙๔/๒๕๔๗ ให้พิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับคำร้องเพราะเห็นว่าผู้โต้แย้งสิทธิคือเจ้าพนักงานที่ดิน และตามคำร้องไม่ใช่กรณีที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้สิทธิทางศาลได้ ต่อมาผู้ฟ้องคดียื่นคำขอจดทะเบียนการได้มาด้วย การครอบครองต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ อีกครั้งหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ก็ไม่ดำเนินการให้โดยอ้างเหตุเช่นเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ อ้างนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสร้างขั้นตอนและภาระให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยอุทธรณ์โดยไม่ชอบคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงเป็นการยากที่จะให้ผู้ฟ้องคดีต้องขวนขวาย หาเอกสารคู่ฉบับมาแสดง จึงฟ้องขอให้ยกเลิกระเบียบหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ปฏิบัติโดยไม่ออกใบแทนและไม่จดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้พิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์ให้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการออกใบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๙๒ มีชื่อบริษัทบุญเลิศศรีสง่า จำกัดเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง การไม่จดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๗๕ ที่ต้องให้นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับเจ้าของมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจดบันทึกสาระสำคัญให้ตรงกับฉบับสำนักงานที่ดิน ส่วนการไม่ออกใบแทน น.ส. ๓ให้ก็เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๓ ประกอบหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ข้อ ๑๒ และข้อ ๑๗ (๓) ที่กำหนดให้ผู้ขอจะต้องเป็นเจ้าของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จึงเป็นการปฏิบัติโดยชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องดังนั้นแม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ไม่จดทะเบียนสิทธิการได้มาโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๖๗ และไม่ออกใบแทน น.ส. ๓ให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามคำร้องขอ แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญและในการออกโฉนดหรือหนังสือเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอื่นใดของผู้ถูกฟ้องคดีก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบของ ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ออกหนังสือรับรองสิทธิหรือใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีและสั่งให้ผู้ฟ้องคดีนำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินฉบับจริงมาแสดงทั้งยืนยันด้วยว่า เจ้าของที่ดินที่เป็นเจ้าของโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เท่านั้น ที่มีสิทธิขอออกใบแทน จึงมีผลเท่ากับผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยอาศัยหลัก จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายดังกล่าว แต่การจะพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง และสามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อแสดงสิทธิในที่ดิน ต่างจากที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนได้ ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะออกหนังสือแสดงสิทธิหรือ ใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายสนิท กันทา ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท พลโท(สายัณห์ อรรถเกษม) พลโท (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๘