คำวินิจฉัยที่ 13/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓/๒๕๔๙

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลจังหวัดตรัง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตรังโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โจมทองศิลา โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานเทศบาลตำบลห้วยยอด จำเลย ต่อศาลจังหวัดตรัง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่๑๔๔๑/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ทำการรับเหมาก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร ก่อสร้างคันหินทางเท้า วางท่อระบายน้ำ พร้อมบ่อพักและขยายสะพานข้ามคลองห้วยยอดเป็นเงิน ๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๒กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ จำเลยมีหน้าที่ส่งมอบพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์เข้าก่อสร้างตามสัญญาได้เพียงบางส่วนแล้วไม่สามารถก่อสร้างงานได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างติดอยู่ในแนวเสาไฟฟ้าแรงสูงและติดแนวเขตท่อประปา โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อให้จำเลยแก้ไขปัญหาเรื่องเสาไฟฟ้าแรงสูงเมื่อ ๑๙กันยายน ๒๕๔๖ และติดตามผลหลายครั้ง จำเลยแก้ไขปัญหาล่าช้า จนกระทั่งยอมแก้ไขแบบเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๗ โจทก์แจ้งจำเลยให้แก้ไขเรื่องแนวท่อประปาเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ จำเลยแก้ปัญหานี้เสร็จเมื่อ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗โจทก์ส่งงานตามสัญญาเมื่อ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ ต่อมาจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระค่าปรับที่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเป็นเวลา ๙๗ วัน เป็นเงิน ๙๐๙,๓๗๕ บาท แต่โจทก์เห็นว่าการส่งมอบงานล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในแบบแปลนและการแก้ไขปัญหาของจำเลย ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิคิดค่าปรับ จึงโต้แย้งการใช้สิทธิเรียกค่าปรับดังกล่าวและขอชะลอการรับเงินค่าจ้าง รวมทั้งอุทธรณ์ของดค่าปรับต่อจำเลย แต่จำเลยปฏิเสธ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างก่อสร้างที่โจทก์ได้ทำแล้วเสร็จตามสัญญา ในส่วนค่าปรับที่จำเลยเรียกปรับจากโจทก์จำนวน ๙๐๙,๓๗๕ บาทขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายคิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น ๙๘๐,๙๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์และมีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์ตามสัญญา เนื่องจากโจทก์ก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด ไม่ดำเนินการก่อสร้างตามงวดงานและหยุดงานบ่อยครั้ง ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการมิใช่เกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของจำเลยทั้งจำเลยได้หักจำนวนวันที่จำเลยขยายระยะเวลาในการก่อสร้างให้แก่โจทก์ออก ๗๓ วันแล้วโจทก์ยังคงทำงานล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลา ๙๗ วัน จำเลยจึงมีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) กำหนดให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลปกครอง
โจทก์ทำคำชี้แจงว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้าง โดยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยกรณีที่จำเลยให้โจทก์เสียค่าปรับเป็นเงิน๙๐๙,๓๗๕ บาทโดยอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบงานล่าช้า อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา ซึ่งสัญญาดังกล่าวที่โจทก์กับจำเลยทำขึ้นเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดตรัง
ศาลจังหวัดตรังเห็นว่า การที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบพื้นที่ให้กับโจทก์ล่าช้าจึงไม่ต้องเสียค่าปรับให้กับจำเลยตามที่จำเลยเรียกร้อง ดังนั้น คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นสำคัญ คดีดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า มูลพิพาทคดีนี้เกิดจากสัญญาจ้างซึ่งมีโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญา และโดยที่จำเลยเป็นเทศบาลตำบลมีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่นอันเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และสัญญารับจ้างทำงานก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจร คันหินทางเท้า วางท่อระบายน้ำ พร้อมขยายสะพานข้ามคลองห้วยยอด มีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ที่บัญญัติว่า สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นเอกชนทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับจำเลยเพื่อทำการปรับปรุงผิวจราจร ก่อสร้างคันหินทางเท้า วางท่อระบายน้ำ พร้อมบ่อพักและขยายสะพานข้ามคลอง แต่โจทก์ส่งมอบงานล่าช้า จำเลยจึงเรียกให้โจทก์ชำระค่าปรับ โจทก์เห็นว่าการส่งมอบงานล่าช้าเกิดจากความบกพร่องในแบบแปลนและการแก้ไขปัญหาของจำเลย ไม่ได้เกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิคิดค่าปรับตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างก่อสร้างที่โจทก์ได้ทำแล้วเสร็จตามสัญญาในส่วนค่าปรับที่จำเลยเรียกจากโจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิคิดค่าปรับจากโจทก์ตามสัญญา ความล่าช้าของการก่อสร้างเกิดจากการที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานล่าช้ากว่ากำหนด ไม่ทำงานตามงวดงานในสัญญาและไม่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์และจำเลยผูกพันเป็นคู่สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลย สาระสำคัญของข้อโต้แย้งเป็นการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญาจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ จำเลยเป็นเทศบาลตำบลมีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลห้วยยอดอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พ.ศ. ๒๕๓๐ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา ๕๐ และ ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจรก่อสร้างคันหินทางเท้า วางท่อระบายน้ำ พร้อมบ่อพักและขยายสะพานข้ามคลองห้วยยอด ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยตรงโดยรัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น สัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นบริการสาธารณะ มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการโต้แย้งสิทธิกันตามสัญญาพิพาทซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด โจมทองศิลา โจทก์สำนักงานเทศบาลตำบลห้วยยอด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share