คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) และ (2) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 โดยความผิดฐานคนต่างด้าวทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ตามกฎหมายเดิม มาตรา 33 และตามกฎหมายใหม่ มาตรา 51 มีระวางโทษเท่ากัน ที่ศาลล่างทั้งสองใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 4 นั้นชอบแล้ว ส่วนในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตามกฎหมายเดิม มาตรา 39 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กำหนดโทษตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลัง มาตรา 54 มีระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคนโดยไม่มีระวางโทษจำคุก ในส่วนของโทษจำคุก กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนของโทษปรับ กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 48, 50, 53 ทวิ, 53 ตรี, 73, 73 ทวิ, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2522 (ที่ถูก พ.ศ.2521) มาตรา 5, 6, 22, 33, 39 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 (ที่ถูก มาตรา 48 วรรคหนึ่ง), 53 ทวิ, 57 ตรี (ที่ถูก 53 ตรี), 73 (ที่ถูก 73 วรรคหนึ่ง วรรคสอง), 73 ตรี (ที่ถูก 73 ทวิ), 74, 74 ทวิ (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2522 (ที่ถูก พ.ศ.2521) มาตรา 22, 33, 39 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 9 เดือน ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 9 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 9 เดือน ฐานร่วมกันมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 เดือน และฐานคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามโดยเด็ดขาด จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 33 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 37 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 16 เดือน 15 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 คนละ 18 เดือน 15 วัน ริบของกลางทั้งหมด ส่วนคำขอให้จ่ายสินบนนำจับเนื่องจากศาลไม่ได้ลงโทษปรับ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 14 เดือน ส่วนโทษของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว แต่จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรม โดยร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ แปรรูปไม้หวงห้าม มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครอง ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ และมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวกนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้มีการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ยังเป็นผลให้มีการลักลอบตัดต้นไม้เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นภัยต่อทรัพยากรป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ประกอบกับของกลางที่ยึดได้มีไม้แปรรูปซึ่งเป็นไม้หวงห้ามหลายชนิด รวมจำนวน 174 แผ่น ปริมาตร 1.6 ลูกบาศก์เมตร และมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามอีกจำนวนหนึ่ง พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษให้นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3 (1) และ (2) ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 โดยความผิดฐานคนต่างด้าวทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ตามกฎหมายเดิม มาตรา 33 และตามกฎหมายใหม่ มาตรา 51 มีระวางโทษเท่ากัน ที่ศาลล่างทั้งสองใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลยที่ 4 นั้นชอบแล้ว ส่วนในความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน ตามกฎหมายเดิม มาตรา 39 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กำหนดโทษตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลัง มาตรา 54 มีระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคนโดยไม่มีระวางโทษจำคุก ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนของโทษปรับ กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 22, 39 และพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 ลงโทษปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 5,000 บาท เมื่อรวมโทษในความผิดฐานอื่นแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 เดือน 15 วัน และปรับ 5,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนโทษของจำเลยอื่นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share