แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องซื้อรถยนต์คันพิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยผู้ร้องรวบรวมเงินมาซื้อโดยได้นำเงินบางส่วนที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์โดยเงินกู้ที่ได้มาเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายกับจำเลย ย่อมถือเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อรถยนต์คันพิพาทเป็นสินสมรส จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์คันพิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 197,395.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 189,786.20 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 ธันวาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ต่อมาจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าหมายเลขทะเบียน กย 2248 เชียงใหม่ เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยรถยนต์พิพาทคืนแก่ผู้ร้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2542 มีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อเดือนมีนาคม 2547 ผู้ร้องจองซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 634,000 บาท โดยได้ชำระเงินมัดจำ 5,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเป็นแคชเชียร์เช็คธนาคารออมสิน สาขาแม่โจ้ ฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 จำนวนเงิน 629,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์พิพาทเพื่อชำระหนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาโดยอ้างว่ารถยนต์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง วันที่ 3 มีนาคม 2549 จำเลยจดทะเบียนหย่ากับผู้ร้อง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เมื่อผู้ร้องซื้อรถยนต์พิพาทในระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยโดยได้ความจากผู้ร้องว่า ผู้ร้องรวมรวบเงินมาซื้อโดยขอเงินจากมารดาผู้ร้อง 150,000 บาท กับได้ไถ่ถอนการจำนองบ้านและที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาจำนองธนาคารออมสิน โดยขอกู้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนที่ไถ่ถอนจำนองแล้วเอาส่วนต่างนั้นมารวมรวบในการซื้อรถยนต์พิพาทด้วยและยังได้กู้เงินเพิ่มโดยกู้จากสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารออมสินอีก 200,000 บาท นอกจากนี้เป็นเงินเก็บส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นเงินที่ผู้ร้องเก็บสะสมมาตั้งแก่ก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลย ดังนี้ เงินกู้ที่ผู้ร้องเบิกความถึงจึงเป็นเงินที่ผู้ร้องได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยย่อมถือเป็นสินสมรส หาใช่เป็นเงินที่ได้มาจากการเปลี่ยนสินส่วนตัวของผู้ร้องมาเป็นสินสมรสดังเช่นที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมาในฎีกา เมื่อรถยนต์พิพาทเป็นสินสมรสจำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย และตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคืนแก่ผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น…” ดังนี้ คดีจึงมีประเด็นวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เป็นของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในรถยนต์พิพาทนั้นด้วย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ