แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสามกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ความผิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะกระทำเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบงานทะเบียนราษฎรและมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้อาศัยอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยอย่างถาวรก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชัดแจ้งและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 137, 265, 267, 268 วรรคแรก เป็นความผิดสามกรรม จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสองด้วย และลงโทษจำเลยที่ 1 สองกระทง กระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้และคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้พร้อมฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยต้องระวางโทษหนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 91, 137, 264, 265, 267, 268 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14, 15
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 265, 267, 268 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 265, 267 ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานแจ้งความเท็จ ปลอมเอกสารราชการ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปลอมเอกสารราชการ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยที่ 1 กระทำผิด3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 6 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จ ปลอมเอกสารราชการ แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 8 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสามของพนักงานคุมประพฤติแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลบุคคลทางทะเบียนราษฎร ถือเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐกลับมากระทำความผิดเสียเอง จึงเห็นควรไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1.1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 2 ปี การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1.2 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด และการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1.3 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (3) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ทั้งนี้ความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) และ 14 (3) ให้ลงโทษตามมาตรา 14 (3) แต่กระทงเดียวตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 14 วรรคสอง) จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องข้อ 1.1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบด้วยมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 1 ปี 4 เดือน และการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องข้อ 1.2 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 1 ปี 4 เดือน เมื่อลดโทษให้จำเลยทั้งสามคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 8 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 15 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสามกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยการกระทำของจำเลยที่ 1 กรรมแรกเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารราชการในการขอแจ้งย้ายที่อยู่และมีชื่อในทะเบียนบ้านซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2543 กรรมที่สองเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารราชการในการขอบัตรประจำตัวประชาชนฉบับใหม่แทนฉบับเก่าที่อ้างว่าสูญหาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2543 ส่วนกรรมที่สามเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ แสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารราชการในการขอจดทะเบียนสมรส ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 แม้ความผิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะกระทำเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบงานทะเบียนราษฎรและมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้อาศัยอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยอย่างถาวรก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชัดแจ้งและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องทั้งสามกรรมและลงโทษความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.2 และ 1.3 เพียงกระทงเดียวนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษหนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคท้าย ด้วย สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3