แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างในฎีกาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องไม่ตรงกับที่จำเลยได้ให้การไว้จึงมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสองจำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้โจทก์จะมิได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2รับว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และอ้างว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดและคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ หยิบยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087มาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077 จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำให้การของจำเลยมาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็น บทบังคับเด็ดขาดว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เพื่อวินิจฉัย ถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ย่อมไม่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีฐานะเป็นสภาในกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 120 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 585,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือข้อตกลงตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่อันเป็นการชำระหนี้ส่วนของตนต่อจำเลย โดยมิได้ช่วยจำเลยโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการสร้างบ้านขายพร้อมที่ดินตามสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องยกบ้านและที่ดินให้โจทก์ ตามหนังสือข้อตกลงเป็นเพียงให้โจทก์มีอำนาจถอนการรับรองโครงการเท่านั้นไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยยกบ้านและที่ดินให้โจทก์จำเลยที่ 2 ลงชื่อในหนังสือข้อตกลงดังกล่าวในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน585,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มิได้ถอนการรับรองโครงการที่ได้ให้ไว้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่าตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 11 ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่าหากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาโจทก์จะถอนการรับรองทันทีการถอนการรับรองโครงการย่อมหมายถึงการเลิกสัญญานั่นเองดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา สัญญาย่อมเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ทั้งสองฝ่ายย่อมกลับสู่ฐานะเดิม จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องยกบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพราะจำเลยทั้งสองคงให้การต่อสู้ไว้ว่าหนังสือข้อตกลงข้อ 11 นั้น ได้จำกัดอำนาจโจทก์ไว้ในกรณีจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงให้โจทก์มีอำนาจถอนการรับรองโครงการของจำเลยทั้งสองเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องจึงไม่ตรงกับที่จำเลยทั้งสองได้ให้การไว้ดังนั้น ข้อเท็จจริงนี้จึงมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างในชั้นนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์มิได้กล่าวอ้างในฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด การกล่าวว่าจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 2เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัด ความรับผิดจึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้ระบุในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดก็ตามแต่จำเลยที่ 2 ก็รับว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2และอ้างว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเมื่อคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3หยิบยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087ซึ่งบัญญัติว่าอันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการมาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077 นั้น จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำให้การของจำเลยมาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาดว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเพื่อวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้นั่นเอง ไม่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา
พิพากษายืน