แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัท ร. นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลัง โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท ร. ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 อันถือได้ว่าเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท ร. ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท ร. รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2540 และวันที่ 15 มกราคม 2541 บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาท่าพระ นำเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขารัอยเอ็ด รวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์ ฉบับแรกลงวันที่ 27 มีนาคม 2541 จำนวนเงิน 100,000 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวนเงิน 95,000 บาท ฉบับที่สามลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 ฉบับที่สี่ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2541 จำนวนเงินฉบับละ 233,275 บาท ฉบับที่ห้าลงวันที่ 16 มีนาคม 2541 และฉบับที่หกลงวันที่ 16 เมษายน 2541 จำนวนเงินฉบับละ 193,500 บาท รวมเป็นเงิน 1,048,550 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คทั้งหกฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” จำเลยต้องรับผิดในต้นเงินจำนวน 1,048,550 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 68,391.75 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,116,941.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,048,550 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเช็คพิพาททั้งหกฉบับที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน และจำเลยได้ขีดคร่อมและขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออก จึงเป็นเช็คที่ห้ามมิให้เปลี่ยนมือ นอกจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คฉบับลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2541 จำนวนเงิน 233,275 บาท แก่บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัดแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ จำเลยได้ออกเช็คฉบับใหม่มอบให้แก่บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไปแล้วเช่นกัน แต่โจทก์กลับสมคบกับบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาททั้งหกฉบับมาฟ้องจำเลยให้รับผิด ทั้งที่โจทก์ไม่อาจมีสิทธิดีไปกว่าบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัดแต่อย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 999 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,116,941.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,048.550 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลูกค้าของโจทก์ได้นำเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาร้อยเอ็ด รวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์ เช็คลงวันที่ 27 มีนาคม 2541, 27 กุมภาพันธ์ 2541, 16 กุมภาพันธ์ 2541, 16 พฤษภาคม 2541, 16 มีนาคม 2541 และ 16 เมษายน 2541 จำนวนเงิน 100,000 บาท 95,000 บาท 233,275 บาท 193,500 บาท และ 193,500 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 1,048,550 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” ตามสำเนาสัญญาขายลดตั๋วเงิน เอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เช็คเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.10 และใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.10 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงนำเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 7 กันยายน 2544 โจทก์ได้ฟ้องบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 33 ฉบับ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ซึ่งมีเช็คพิพาททั้งหกฉบับ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1122/2544 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร คดีดังกล่าวโจทก์และบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัดกับพวกยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 คดีถึงที่สุดแล้ว ตามสำเนาคำฟ้อง สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมที่จำเลยแนบท้ายคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ลงวันที่ 18 เมษายน 2545 ในสำนวนคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน 6 ฉบับ ได้อีกหรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่งจำกัด และจำเลยจะต้องผูกพันในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์อยู่จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำเลยจึงยังคงต้องผูกพันตามภาระหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในฐานผู้สั่งจ่ายจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด