คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2501/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับขณะพิพาทให้อำนาจอนุญาโตตุลาการที่จะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ดังนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นที่สุด ส่วนการที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ เป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 ที่อนุญาตให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้ หากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ปัญหาเรื่องอายุความเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้วไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2537 ผู้ร้องรับเหมาก่อสร้างอาคารสูง 5 ชั้น จำนวน 2 หลัง รวม 164 ห้อง จากผู้คัดค้านในราคา 16,200,000 บาท ผู้ร้องก่อสร้างอาคารและส่งมอบงานงวดที่ 7 และงวดที่ 8 ให้แก่ผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่ลงชื่อรับงาน เมื่อผู้ร้องก่อสร้างอาคารครบ 10 งวด ตามที่ตกลงกันผู้คัดค้านจะต้องจ่ายเงินให้ผู้ร้องจำนวน 6,400,000 บาท และผู้คัดค้านได้ชำระหนี้ให้ผู้ร้องแล้วบางส่วน ยังเหลือเงินที่ยังไม่ชำระให้ผู้ร้องอีกจำนวน 5,700,000 บาท ผู้ร้องจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความและให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดในประเด็นที่ว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมเท่านั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ผิดพลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาแก้ไขคำชี้ขาด อนุญาโตตุลาการเห็นว่าไม่อาจแก้ไขคำชี้ขาดได้ ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผิดพลาด ไม่ชอบด้วยกฎหมายและความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดีของประชาชน และสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อนุญาโตตุลาการของกระทรวงยุติธรรมแก้ไขคำชี้ขาดที่ว่าสิทธิเรียกร้องของผู้เสนอพิพาทขาดอายุความเป็นไม่ขาดอายุความ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้วและการที่ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้แล้วเป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วเป็นการร้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กลางปี 2537 ผู้คัดค้านว่าจ้างผู้ร้องก่อสร้างอาคารสูง 5 ชั้น 2 หลัง รวม 164 ห้อง พร้อมสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า ฯลฯ โดยตกลงค่าวัสดุและค่าแรงเป็นเงินทั้งสิ้น 16,200,000 บาท ผู้ร้องก่อสร้างอาคารให้จนแล้วเสร็จและส่งมอบอาคารให้แก่คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านติดค้างไม่ชำระค่าก่อสร้างให้แก่ผู้ร้องจำนวน 5,700,000 บาท ผู้ร้องจึงฟ้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินที่ค้างต่อศาลชั้นต้น แต่ต่อมาได้ถอนฟ้องไปและเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระค่าก่อสร้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเมื่อวัที่ 12 เมษายน 2543 ให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการแรกว่า อนุญาโตตุลาการมีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องอายุความ และวินิจฉัยชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลการ พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับขณะพิพาทให้อำนาจอนุญาโตตุลาการที่จะหยิบยกพยานหลักฐานใดขึ้นวินิจฉัยภายในขอบเขตของกฎหมายและสัญญาที่พิพาทกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เมื่ออนุญาโตตุลาการเห็นว่าการเรียกค่าจ้างของผู้ร้องเป็นกรณีผู้รับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) มีอายุความ 2 ปี และอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 ผู้ร้องส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้คู่กรณีรับไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 ผู้ร้องอาจบังคับสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างได้ตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับมอบงานดังกล่าว หาใช่นับตั้งแต่วันครบกำหนดทวงถามให้คู่กรณีชำระหนี้ เพราะมิใช่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะทวงถามแต่อย่างใด เมื่อนับจากวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 จนถึงกันที่เสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 จึงพ้น 2 ปี คดีของผู้ร้องที่เรียกค่าก่อสร้างจึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องในส่วนค่าก่อสร้างขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยอันเป็นอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วย คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอยู่ในขอบอำนาจของกฎหมายและมีอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อมาว่าอายุความสะดุดหยุดลงเพราะกรณีมีการชำระหนี้บางส่วนและมีหนี้ที่ผู้คัดค้านจะต้องชำระหนี้ซึ่งอยู่ในกำหนดอายุความที่สามารถบังคับได้ อย่างน้อยที่สุดผู้ร้องสมควรได้รับชำระหนี้ที่ค้างในงวดที่ 9 และงวดที่ 10 ด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 บัญญัติว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นที่สุด ส่วนการที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ เป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 ที่อนุญาตให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้ หากคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าปัญหาอายุความเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย คำวินิจฉัยชี้ขาดขัดต่อหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องอายุความเป็นปัญหาข้อกฎหมายจริงตามที่ผู้ร้องอุทธรณ์ แต่ปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องที่นำมาเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้วไม่ได้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดและคำชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้อนุญาโตตุลาการแก้ไขคำชี้ขาดได้ และให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยเหตุและผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share