คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การให้บำเหน็จความชอบแก่พนักงานเป็นอำนาจโดยเฉพาะของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหาใช่เป็นสิทธิของพนักงานไม่ การพิจารณาขึ้นเงินเดือนกรณีปกติหนึ่งขั้นมีหลักเกณฑ์วางไว้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนเพราะเหตุข้อเดียวที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีวันลาป่วยเกินสิทธิข้ออ้างของจำเลยนี้ฟังไม่ได้ยังมีหลักเกณฑ์ข้ออื่น ๆ อีกที่จำเลยไม่ได้พิจารณาจำเลยจึงต้องพิจารณาความดีความชอบประจำปีของโจทก์ใหม่
แม้จำเลยจะมอบให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นใช้ดุลพินิจเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีปกติหนึ่งขั้นของพนักงานตามหลักเกณฑ์และคำสั่งของจำเลยเพราะมีพนักงานอยู่เป็นจำนวนมากก็ตามแต่ขั้นสุดท้ายก็เป็นอำนาจของผู้อำนวยการธนาคารจำเลยที่จะพิจารณาสั่งและตามคำสั่งของจำเลยก็กำหนดไว้ชัดว่าผู้ที่จะสั่งขึ้นเงินเดือนหรือไม่ขึ้นเงินเดือนก็คือผู้อำนวยการธนาคารจำเลย กรณีจึงหาใช่เป็นอำนาจพิจารณาเด็ดขาดของผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเท่านั้นไม่

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยคืนเงินค่าจ้างจำนวน1,248 บาท และ 468 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยพิจารณาความดีความชอบประจำปี 2522 ของโจทก์นอกจากเรื่องวันลาป่วยใหม่ ตามหลักเกณฑ์คำสั่งที่ 60/2520 และ 87/2520 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่า จำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนไว้ตามคำสั่งที่ 60/2520 และคำสั่งที่ 87/2520 ซึ่งเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามนัยข้อ 68 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานและเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 ดังนั้นถ้าพนักงานธนาคารออมสินผู้ใดเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์ของคำสั่งดังกล่าวแล้ว ก็ต้องมีสิทธิได้ขึ้นเงินเดือนกรณีปกติหนึ่งขั้น จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนหนึ่งขั้นประจำปี พ.ศ. 2522 พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องนั้นข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า การให้บำเหน็จความดีความชอบแก่พนักงานเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายจ้าง ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน อำนาจนี้เป็นสิทธิของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินกิจการซึ่งนายจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถทั้งดุลพินิจของตนเอง ฉะนั้นการพิจารณาขึ้นเงินเดือนจึงเป็นสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง หาใช่เป็นสิทธิของพนักงานไม่ แต่เนื่องจากมีหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นเงินเดือนกรณีปกติหนึ่งขั้นตามคำสั่งที่ 87/2520 ข้อ 1 ก. วางไว้ว่าจะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ต่าง ๆ รวม 7 ข้อ โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับการพิจารณาขั้นเงินเดือนเพราะเหตุข้อเดียวที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีวันลาป่วยเกินสิทธิซึ่งฟังไม่ได้ ยังมีหลักเกณฑ์ข้ออื่น ๆ อีกที่จำเลยยังไม่ได้พิจารณา ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยพิจารณาความดีความชอบประจำปี พ.ศ. 2522 ของโจทก์ทั้งสองใหม่ จึงชอบแล้ว

ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า หลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนตามคำสั่งที่ 60/2520 ข้อ 6 กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นแจ้งชื่อพนักงานผู้ที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหนึ่งขั้น และผู้ที่ได้ขึ้นเงินเดือนสองขั้นผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น สำหรับผู้ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้ขึ้นเงินเดือนหนึ่งขั้น ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นไม่ต้องแจ้งชื่อผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งพนักงานผู้นั้นก็จะได้ขึ้นเงินเดือนกรณีปกติหนึ่งขั้นโดยที่ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ ๆ ขึ้นไปไม่ต้องใช้ดุลพินิจ การพิจารณาว่าพนักงานผู้ใดเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์จะได้ขึ้นเงินเดือนหนึ่งขั้นเป็นอำนาจเด็ดขาดของผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเท่านั้น ข้อนี้เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า พนักงานผู้ที่ได้เลื่อนเงินเดือนหนึ่งขั้นที่ไม่ต้องเสนอรายชื่อเพียงแต่ให้แจ้งยอดจำนวนพนักงานขึ้นไปนั้น เพราะจำเลยมอบให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นใช้ดุลพินิจพิจารณาตามหลักเกณฑ์คำสั่งที่ 60/2520 และ 87/2520 เนื่องจากมีพนักงานจำนวนมาก แต่ผลการพิจารณาเงินเดือนจะได้ขึ้นหนึ่งขั้นหรือไม่ในชั้นสุดท้ายเป็นอำนาจของผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นอกจากนี้ตามคำสั่งที่ 60/2520 ข้อ 8 ก็กำหนดไว้ชัดว่า ผู้ที่จะสั่งขึ้นเงินเดือนหรือไม่ขึ้นเงินเดือนก็คือ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ฉะนั้นอำนาจในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนหนึ่งขั้นจึงอยู่ที่ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน”

พิพากษายืน

Share