คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852-6854/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น จะต้องเป็นการแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งได้จัดเตรียมการจ่ายไว้แล้วโดยไม่ต้องดำเนินกิจการอย่างอื่นอีก หากหนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่กำหนดว่าจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอีกโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนก็ไม่ใช่หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หนังสือที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เชิญให้โจทก์ที่ 1 มาทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10 มิใช่หนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เอกสารที่เป็นหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง คือ เอกสารหมาย จ. 11 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2535 เรื่องแจ้งให้โจทก์ที่ 1 มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน ซึ่งมีข้อความให้โจทก์ที่ 1 ไปรับเงินค่าทดแทนได้โดยไม่มีข้อที่จะดำเนินการอย่างอื่นอีก เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วในวันที่ 7 ธันวาคม 2535 จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ที่ 1 มีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯในขณะที่ไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนที่ออกตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ ขณะนั้นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ทำการแทนจำเลย ไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนแล้ว จึงไม่มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯจึงไม่มีผลใช้บังคับ และที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะต้องเวนคืนก็โดยอาศัยสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เป็นการแจ้งและจ่ายเงินอันสืบเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯที่ไม่มีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ไม่มีการทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เพราะขณะที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ไปรับเงินค่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯนั้น อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืน และราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2530 กำหนดโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2530 ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการหมดอายุของ พ.ร.ฎ.ดังกล่าว การดำเนินการของฝ่ายจำเลยในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดิน การจัดซื้อ การจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนเป็นการดำเนินการในขณะที่ไม่มีอำนาจและผิดขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทำให้ยังไม่มีกรณีที่จะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ที่ออกตามมาตรา 6 ดังที่บัญญัติในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง จึงยังไม่มีกรณีที่จะเริ่มนับกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กรณีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นกรณีที่ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฝ่ายจำเลยต้องดำเนินการในเรื่องการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใหม่ จึงต้องยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วยเหตุนี้ มิใช่ยกฟ้องด้วยเหตุว่าฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ 1, ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 344,366,592.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จากเงินต้น 302,105,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 176,912,903 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จากต้นเงิน 151,680,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 170,078,055.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จากเงินต้น 145,820,000 บาท ทั้งนี้นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีของโจทก์ที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 39,405,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 19,020,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละสำนวนชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนและจำเลยสำนวนที่หนึ่งและที่สามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยต้องชำระเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี สำหรับโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2535 สำหรับโจทก์ที่ 3 นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามและจำเลยสำนวนที่หนึ่งและที่สามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินตำบลสามเสนนอกฝั่งเหนือ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6137 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6136 และโจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6139 ที่ดินของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายสาธร – ลาดพร้าว (บริเวณโรงซ่อมบำรุง) ตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตพระโขนง… และเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ซึ่งมีอายุบังคับใช้ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2535 และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2535 คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแล้ว แต่ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามจนหมดอายุบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2535 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษ แต่เป็นช่วงที่ไม่มีการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ต่อมามีการตรา พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตจตุจักร… และเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ – หัวลำโพง – พระโขนง และสายลาดพร้าว – สาธร ขึ้นอีกฉบับมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2539 จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 22 และ 23 กันยายน 2535 แจ้งให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนตามลำดับ และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ที่ 1 กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2535 จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน โจทก์ทั้งสามได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามตารางวาละ 150,000 บาท
จำเลยฎีกาว่า แม้หนังสือเอกสารหมาย ล. 11 จะเป็นหนังสือขอเชิญไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนโดยการทำสัญญา แต่ก็มีข้อความว่าได้มีการกำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนและเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่พอใจในราคา โจทก์ที่ 1 จึงต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเอกสารหมาย ล. 11 โจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือเอกสารหมาย ล. 11 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 แต่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2535 เกินกำหนดระยะเวลา 60 วัน จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เห็นว่า หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น จะต้องเป็นการแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งได้จัดเตรียมการจ่ายไว้แล้วโดยไม่ต้องดำเนินกิจการอย่างอื่นอีก หากหนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่กำหนดว่าจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งอีกโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนก็ไม่ใช่หนังสือแจ้งของเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หนังสือที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เชิญให้โจทก์ที่ 1 มาทำสัญญาซื้อขายตามมาตรา 10 มิใช่หนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เอกสารที่เป็นหนังสือแจ้งจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง คือ เอกสารหมาย จ. 11 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2535 เรื่องแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ไปรับเงินค่าทดแทนได้โดยไม่มีข้อที่จะดำเนินการอย่างอื่นอีก เมื่อโจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วในวันที่ 7 ธันวาคม 2535 จึงเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ที่ 1 มีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้
โจทก์ที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 มีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 โจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 ยังอยู่ในระยะเวลาที่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ที่ 2 กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535 ในขณะที่ไม่มี พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนที่ออกตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ ขณะนั้นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ทำการแทนจำเลย ไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนแล้ว จึงไม่มีอำนาจตกลงซื้อขายและกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนกับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯจึงไม่มีผลใช้บังคับ และที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่จะต้องเวนคืนก็โดยอาศัยสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวตามหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนลงวันที่ 22 กันยายน 2535 เป็นการแจ้งและจ่ายเงินอันสืบเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯที่ไม่มีผลใช้บังคับ กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจ่ายเงินหรือวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ไม่มีการทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เพราะขณะที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ที่ 2 ไปรับเงินค่าที่ดินตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯนั้น อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืน และราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2530 กำหนดโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน… พ.ศ. 2530 ได้สิ้นสุดลงไปพร้อมกับการหมดอายุของพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวการดำเนินการของฝ่ายจำเลยในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดิน การจัดซื้อ การจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนเป็นการดำเนินการในขณะที่ไม่มีอำนาจและผิดขั้นตอนตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ทำให้ยังไม่มีกรณีที่จะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 ดังที่บัญญัติในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง จึงยังไม่มีกรณีที่จะเริ่มนับกำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องคดีตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กรณีของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นกรณีที่ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ฝ่ายจำเลยต้องดำเนินการในเรื่องการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใหม่ จึงต้องยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วยเหตุนี้ มิใช่ยกฟ้องด้วยเหตุว่าฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง
ส่วนคดีระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยนั้น มีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลย คือโจทก์ที่ 3 กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535 ตามเอกสารหมาย จ. 22 ในขณะที่ไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ใช้บังคับ ดังนั้นจึงต้องยกฟ้องโจทก์ที่ 3 ด้วยเหตุเดียวกันกับที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยแล้วข้างต้น เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 3 และจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 26,270,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ด้วยเหตุที่วินิจฉัยข้างต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยให้เป็นพับ.

Share