แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องเพื่อติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินตาม ป.พ.พ.มาตรา1336 เป็นการใช้อำนาจแห่งกรรมสิทธิ์ ส่วนสิทธิในเครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นสิทธิในนามธรรม การใช้สิทธิฟ้องคดีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่สิทธิดังกล่าวไว้โดยเฉพาะอันได้แก่พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า CITIZEN ที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลย เป็นการฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1) กรณีมิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับเอาแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่เป็นการใช้สิทธิในทางเยียวยาให้มีการแก้ไขให้กลับสู่สถานะเดิมอันเป็นบุคคลสิทธิและเป็นสิทธิเรียกร้องประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 เดิม ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่มีการโต้แย้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว คือนับตั้งแต่วันที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทเป็นต้นไป แต่โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อเกินกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ
เมื่อปรากฏว่าคดีโจทก์ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41 (1)ขาดอายุความแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 41 (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยหรือไม่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยสุจริตหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามมาตรา 41 (1) ต้องเปลี่ยนแปลงไป
จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้แล้ว ต้องถือว่าจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าจำพวกที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าว ดังนี้ เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้นเลย อันเป็นมูลที่จะเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้กล่าวอ้างที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แม้จะเป็นการนำสืบในเชิงปฏิเสธ ก็ยังคงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความดังกล่าวอยู่