คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4058/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เริ่มต้นโดยการขับรถยนต์ตามหน้าที่ตราบใดที่ยังไม่นำรถเข้าเก็บถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ยังไม่เสร็จสิ้น แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะขับรถไปเที่ยวดื่มสุรากับเพื่อน ๆ ก็ต้องถือว่าอยู่ในระหว่างทำงานในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจะปัดความรับผิดของตนโดยอ้างระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างและในกิจการของจำเลยที่ 2 ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้พุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์ของโจทก์อย่างแรง รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 32,979.47 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ติดต่อธุระส่วนตัวโดยพลการ และขับไปชนรถยนต์ของโจทก์นอกเวลาปฏิบัติหน้าที่และนอกเหนือทางการที่จ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 28,433 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 เริ่มต้นโดยการขับรถยนต์ตามหน้าที่ ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่นำรถเข้าเก็บถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ยังไม่เสร็จสิ้น ในระหว่างนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะขับรถไปเที่ยวดื่มสุรากับเพื่อน ๆ ก็ต้องถือว่าอยู่ในระหว่างทำงานในทางการที่จ้างจำเลยที่ 2 จะปัดความรับผิดของตนโดยอ้างระเบียบข้อบังคับในการทำงานที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ได้ฝ่าฝืนมาใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share