คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยในการปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างรายวันมีว่า’ลูกจ้างรายวันที่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันละ 47 บาทขึ้นไปทั้งนี้หากต่อไปมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นวันละเกิน 35 บาทแล้ว การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างรายวันจะถือเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่บริษัทปรับให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่รวมกับอัตราเดิมเป็นเกณฑ์การพิจารณา’ คำว่าอัตราเดิมตามข้อตกลงดังกล่าว หมายถึงอัตราค่าจ้างวันละ47 บาท ที่กำหนดไว้ในตอนต้นนั้นเอง ไม่ใช่อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างหรือโจทก์แต่ละคนได้รับขณะทำข้อตกลง เพราะค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนได้รับไม่ได้ถูกนำมาระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงอันจะถือให้เห็นว่าเป็นอัตราเดิมเมื่อมีการปรับค่าจ้างใหม่จึงต้องนำค่าจ้างขั้นต่ำที่สุดที่ปรับให้มารวมกับอัตราค่าจ้าง 47 บาท และกลายเป็นอัตราเดิมตามข้อตกลงนี้ต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้ง 65 คนเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมีหน้าที่วันเริ่มเข้าทำงานและอัตราค่าจ้างครั้งสุดท้ายตามบัญชีท้ายฟ้อง ตัวแทนของโจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างลงวันที่ 20 ธันวาคม 2521 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 ท้ายฟ้อง ตามบันทึกฉบับแรกข้อ 5.2 จำเลยตกลงปรับค่าจ้างลูกจ้างรายวันเป็นรายเดือนเฉพาะลูกจ้างรายวันที่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันละ 47 บาทขึ้นไป และมีอายุงานไม่ต่ำกว่า 4 ปี การปรับค่าจ้างให้ใช้อัตราค่าจ้างรายวันที่ลูกจ้างได้รับคูณด้วย 30 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2523 โจทก์ทุกคนได้รับค่าจ้างเกินวันละ 47 บาท มีอายุงานไม่ต่ำกว่า 4 ปีตามข้อตกลงแล้วแต่จำเลยไม่ปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนให้โจทก์ และจำเลยให้ค่าจ้างโจทก์ทั้ง 65 คน โดยเอาค่าจ้างรายวันคูณด้วย 26 (หักวันอาทิตย์และวันหยุดประจำสัปดาห์) ซึ่งผิดข้อตกลง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามแล้ว จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้ง 65 คน ให้ครบตามข้อตกลงตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2523 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2523 และให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2521 ข้อ 5.2 โดยปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523เป็นต้นไป

จำเลยให้การว่าตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2521การปรับอัตราค่าจ้างลูกจ้างรายวันเป็นรายเดือนต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 5.1 หรือ 5.2 แต่โจทก์ทั้ง 65 คนไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น จึงไม่ได้รับการปรับค่าจ้าง จำเลยไม่ได้ทำผิดข้อตกลงตามฟ้อง

ชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยรับกันว่า

โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยมาครบ 4 ปี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2523ทุกคนได้รับค่าจ้างตามบัญชีท้ายคำให้การ การปรับค่าจ้างตามคำขอท้ายฟ้องใช้วิธีคำนวณโดยนำค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณด้วย 30 บวกด้วยค่าอาหาร 150 บาท ค่าครองชีพ 135 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายที่โจทก์ฟ้องให้นำค่าจ้างรายวันของโจทก์แต่ละคนตามบัญชีท้ายคำให้การจำเลยหมายเลข 4ในเดือนมีนาคม 2523 คูณด้วย 28 เอกสารท้ายฟ้องท้ายคำให้การถูกต้องนับจากวันทำข้อตกลงจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2523 โจทก์ทุกคนไม่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าผลัด ค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2521 ถึง 30กันยายน 2522 วันละ 35 บาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2522 ถึง 30 กันยายน2523 วันละ 45 บาท และตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2523 ถึง 31 ธันวาคม 2523วันละ 54 บาท

โจทก์จำเลยท้ากันเป็นข้อแพ้ชนะเพียงประเด็นเดียวว่า บันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม 2521 ข้อ 5.2 ที่ว่า “ลูกจ้างรายวันที่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่ 47 บาทขึ้นไป ทั้งนี้หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นวันละ35 บาทแล้ว การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างรายวันจะถือเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่บริษัทปรับให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่รวมกับอัตราเดิมเป็นเกณฑ์การพิจารณานั้นมีความหมายที่แท้จริงอย่างใด

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เนื่องจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2522 จำเลยปรับค่าจ้างจำนวนต่ำสุด 4 บาท กันในปีพ.ศ. 2523 จำเลยปรับค่าจ้างจำนวนต่ำสุด 4.50 บาท ฉะนั้น เกณฑ์การพิจารณาปรับค่าจ้างรายวันเป็นรายเดือนสำหรับช่วงวันที่ 1 ตุลาคม2522 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2523 ต้องเปลี่ยนจากอัตราเดิมเป็น 51 บาทและนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 ต้องเปลี่ยนเป็น 55.50 บาท ในเดือนมีนาคม 2523 โจทก์ที่ 1 ถึง 52 ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันละ 51 บาทขึ้นไปจึงเข้าเกณฑ์การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนตามข้อตกลง ส่วนโจทก์ที่ 53 – 65 ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 51 บาท ไม่เข้าเกณฑ์ปรับเป็นรายเดือน และในเดือนตุลาคม 2523 โจทก์ที่ 1 ถึง 58 และโจทก์ที่ 60 ถึง 65 ได้รับค่าจ้างวันละ 55.50 บาทขึ้นไป จึงเข้าเกณฑ์การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนตามข้อตกลง คงมีเฉพาะโจทก์ที่ 59เท่านั้นที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 55.50 บาท ไม่เข้าเกณฑ์ปรับค่าจ้างเป็นรายเดือน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย (1 มีนาคม ถึง30 กันยายน 2523) ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 52 และให้จำเลยปรับค่าจ้างรายวันเป็นเดือนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 58 และที่ 60 ถึง 65ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไป (จำนวนที่ให้ชำระและอัตราที่ปรับศาลแรงงานกลางกำหนดให้ตามที่คู่ความรับกัน)

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า “อัตราเดิม” ในบันทึกข้อตกลงข้อ 5.2 มีความหมายอย่างไร ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หมายถึงอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างแต่ละคนได้รับในขณะทำบันทึกข้อตกลงมิได้หมายถึงอัตราค่าจ้างวันละ 47 บาทที่ตั้งไว้เป็นเกณฑ์การพิจารณาปรับค่าจ้างรายวันเป็นรายเดือนนั้น เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงข้อ 5.2 ได้ตั้งกำหนดอัตราค่าจ้างวันละ 47 บาทเป็นเกณฑ์การพิจารณา ส่วนเงื่อนไขของข้อตกลงที่วางไว้ว่า “หากต่อไปมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นวันละเกินกว่า35 บาทแล้ว การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างรายวันจะถือเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่บริษัทปรับให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นใหม่รวมกับอัตราเดิมเป็นเกณฑ์การพิจารณา”เป็นความที่ขยายหลักเกณฑ์ของข้อตกลงนี้หรือให้มีอัตราค่าจ้างที่อาศัยเป็นเกณฑ์การพิจารณาปรับค่าจ้างรายวันเป็นรายเดือนให้สูงขึ้นไปตามการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของทางราชการ ฉะนั้น คำว่า “อัตราเดิม” จึงต้องหมายถึงอัตราค่าจ้างวันละ 47 บาท ที่กำหนดไว้ในตอนต้นนั้นเองไม่ใช่อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างหรือโจทก์แต่ละคนได้รับอยู่ขณะทำข้อตกลงดังจำเลยอุทธรณ์เพราะค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนได้รับหาได้ถูกนำมาระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง อันจะส่อให้เห็นว่าเป็น “อัตราเดิม” ที่เงื่อนไขตอนท้ายอ้างอิงไม่ ฉะนั้น เมื่อมีการปรับค่าจ้างใหม่จึงต้องนำค่าจ้างขั้นต่ำที่สุดที่ปรับให้มารวมกับอัตราค่าจ้าง 47 บาท และกลายเป็นอัตราเดิมของข้อตกลงนี้ต่อไป

พิพากษายืน

Share