คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16116/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล เมื่อมีการนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดแล้ว ซึ่งแตกต่างจากความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ที่ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล เมื่อใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่อาจเสียภาษีได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงมิใช่เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล จึงไม่เป็นความผิดฐานนำของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 76/1, 100/1, 102 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 91 ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดโทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26 วรรคหนึ่ง, 75 วรรคสอง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันนำพืชกระท่อมยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือนและปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันลักลอบนำพืชกระท่อมเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 68,640 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 44,320 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งภายในเวลา 1 ปี ให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ห้ามจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกประเภท และให้ความร่วมมือต่อพนักงานคุมประพฤติในการตรวจหาสารเสพติดรวมถึงเข้าโปรแกรมอบรมฟื้นฟูผู้กระทำผิดตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคสอง, 76/1 วรรคสี่ ด้วยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานนำเข้าพืชกระท่อมมาในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 10,000 บาท ให้คืนรถยนต์กระบะของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดฐานนำของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรกฎหมายบัญญัติว่าการมีไว้เป็นความผิดก็ตาม แต่เมื่อนำของเข้ามาในราชอาณาจักรก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 มิได้บัญญัติห้ามการมีพืชกระท่อมไว้โดยเด็ดขาด บุคคลสามารถผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งพืชกระท่อมได้ หากได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นราย ๆ ไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำพืชกระท่อมเข้ามาในราชอาณาจักรจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล เมื่อมีการนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นความผิดแล้วซึ่งแตกต่างจากความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ที่ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล เมื่อใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่อาจเสียภาษีได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงมิใช่เป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือเจตนาจะฉ้อภาษีของรัฐบาล จึงไม่เป็นความผิดฐานนำของที่ยังมิได้เสียภาษีหรือผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างไม่ผูกพันคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share