แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 มีอายุความสิบปี ป.อ. มาตรา 95 (3) บัญญัติว่า หากมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ หมายความว่า อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไป
จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาลร่วมกับ ห. โดยเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์มรดกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) จดทะเบียนโอนเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสามแปลงแก่ ห. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 มิใช่อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งคู่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 96 อายุความตามมาตรา 96 เป็นอายุความร้องทุกข์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 95 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เกินกำหนดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 ที่จำเลยกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) สิทธินำคดีอาญาย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6) และปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูลเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 ให้ประทับฟ้อง (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก)
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความเนื่องจากอายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ทั้งสองทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยคือ เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองมอบให้ทนายโจทก์ทั้งสองไปขอตรวจสอบเอกสาร จึงทราบว่าจำเลยเบียดบังยักยอกทรัพย์มรดกไปเป็นของตนเพียงผู้เดียว เห็นว่า ความผิดฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาลหรือตามพินัยกรรมกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น หากมิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) ซึ่งหมายความว่า อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไป คดีนี้ได้ความจากสารบัญจดทะเบียนด้านหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ว่า จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทั้งสามแปลงแก่นางเหง่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 มิใช่อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เนื่องจากอายุความตามมาตรา 96 เป็นอายุความร้องทุกข์ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 95 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 อันเกินกำหนดระยะเวลาสิบปีนับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 ที่จำเลยกระทำความผิด ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) และปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องคดีอาญาหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยรับสารภาพและไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน