แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สามีจำนองที่ดินสินสมรสไว้กับธนาคาร ขณะ ป.พ.พ. มาตรา 1468เดิม มีผลใช้บังคับอยู่ และไม่มีสัญญาก่อนสมรสกำหนดให้ภริยาเป็นผู้จัดการสินบริคณห์หรือให้จัดการร่วมกัน สามีจึงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียว ดังนั้น การที่สามีนำที่ดินสินสมรสไปจำนองกับธนาคารจึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันที่ดินที่จำนอง ภริยาไม่มีสิทธิขอกันส่วน.
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,400,601 บาท 07 สตางค์ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 13760,13761, 13762 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1ที่ 3 ไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 3 ที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ส่วนตัวผู้ร้องไม่ทราบและไม่ยินยอมด้วย ที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นส่วนของผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อขายทอดตลาดที่ดิน ต้องแบ่งให้ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง
โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 3 นำที่ดินทั้งสี่แปลงมาจำนองไว้กับโจทก์ เพื่อประกันหนี้จำเลยที่ 3 กับหนี้บริษัทซึ่งจำเลยที่ 3และผู้ร้องต่างเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทนั้นด้วย เป็นการจำนองเพื่อประโยชน์ในทางทำมาหาเลี้ยงชีพระหว่างจำเลยที่ 3 และผู้ร้องร่วมกันจำเลยที่ 3 มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดการสินบริคณห์ได้โดยลำพังและเป็นหนี้ร่วม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ในเรื่องนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3จำนองที่ดินสินสมรสทั้งสี่แปลงซึ่งเป็นบริคณห์ระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 3 ไว้กับโจทก์ ขณะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468เดิมมีผลใช้บังคับอยู่ และไม่มีสัญญาก่อนสมรสกำหนดให้ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์หรือให้จัดการร่วมกันตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียว เว้นแต่ในสัญญาก่อนสมรสจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 นำที่ดินสินสมรสทั้งสี่แปลงไปจำนองกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันที่ดินที่จำนองไว้ทั้งหมดทุกแปลง ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วน และกรณีนี้เป็นเรื่องการจัดการสินบริคณห์มิใช่เรื่องการชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าเป็นหนี้ร่วมที่จะต้องใช้หนี้จากสินบริคณห์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.