คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ออกตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดใช้เงิน 1,460 วัน นับแต่วันออกตั๋วไม่มีอัตราดอกเบี้ย แล้วขายตั๋วแก่ธนาคาร โดยทำสัญญาให้ดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ถ้าผิดนัดธนาคารเรียกเงินจากผู้ออกตั๋วและดอกเบี้ยได้ตามสัญญาขายตั๋วเมื่อผู้ออกตั๋วไม่ใช้เงินตามกำหนดซึ่งเป็นผิดนัดโดยไม่ต้องทวงถาม
อายุความฟ้องผู้รับอาวัลกับผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนด 3 ปีตาม มาตรา940,1001
การมอบอำนาจให้ฟ้องมิใช่เป็นสภาพหรือข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหา โจทก์ไม่บรรยายมติที่ประชุมกรรมการบริษัทที่ให้ประธานกรรมการมอบอำนาจให้ฟ้องก็ไม่เคลือบคลุม
จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นธนาคารพาณิชย์แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นและจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยจำเลยฎีกาไม่ได้

ย่อยาว

จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินชำระหนี้แก่โจทก์แทนบริษัทลูกหนี้จำเลยที่ 2 รับอาวัล แล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือรับรองการขายตั๋วนี้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน 3,116,897.26 บาท กับดอกเบี้ยในเงินต้นร้อยละ 14 ตั้งแต่วันฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน 2,250,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันผิดนัด โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยคือข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,250,000 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2516 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ผู้ทรงใช้สิทธิเรียกร้องโดยตรงกับจำเลยผู้ออกตั๋วและผู้รับอาวัลถึงแม้ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องเอกสารหมาย จ.2 จำเลยผู้ออกตั๋วไม่ได้เขียนข้อความกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วและจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลก็ได้ทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์โดยจำเลยทั้งสองได้เขียนข้อความกำหนดจำนวนเงินที่จะใช้ให้พร้อมทั้งกำหนดให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ไว้ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3อันเป็นสัญญาที่ชอบและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงถือได้ว่าจำเลยผู้ออกตั๋วและจำเลยผู้รับอาวัลได้กำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไว้ โจทก์ย่อมเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินตามจำนวนในตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระคือวันที่ 1 สิงหาคม 2516 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาต่อไปคือข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการในธนาคารพาณิชย์และไม่ปรากฏว่าพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ประธานกรรมการของโจทก์มีอำนาจมอบอำนาจให้นายยง เหลืองรังษี และหรือนายเสนีย์ วาทิน ฟ้องคดีแทนโจทก์ประการใด และโจทก์มิได้นำสืบไปถึงว่ามติของที่ประชุมกรรมการของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องมอบอำนาจมีอย่างไร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ปัญหาข้อนี้โจทก์นำสืบนางสิริพร สรวลสนอง นายทะเบียนสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประกอบหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เอกสารหมาย จ.6 ฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีพลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิวงศ์ เป็นประธานกรรมการมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในเอกสารตราสารหรือหนังสือสำคัญให้ทำการแทนโจทก์ได้ และโจทก์ยังนำสืบนายสาโรช สิงหเดช พนักงานผู้ช่วยหัวหน้าส่วนเลขานุการโจทก์ประกอบหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ฟังได้ว่า พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิวงศ์ ประธานกรรมการของโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายยง เหลืองรังษี และหรือนายเสนีย์ วาทิน มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้จำเลยทั้งสองไม่มีพยานมานำสืบหักล้างแก้ไขข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าว จึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล และพลตำรวจเอกประเสริฐรุจิรวงศ์ ประธานกรรมการโจทก์มีอำนาจมอบให้นายยง เหลืองรังษี และหรือนายเสนีย์ วาทิน ให้มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ และไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องนำสืบไปถึงว่ามติของที่ประชุมกรรมการของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องมอบอำนาจนี้มีอย่างไร ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์มิได้นำสืบถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วยนั้น ถึงแม้จำเลยทั้งสองจะได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นไว้เป็นข้อนำสืบ และจำเลยทั้งสองก็มิได้คัดค้านโต้แย้งแต่ประการใดทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยความข้อนี้ไว้จำเลยทั้งสองจึงยกความข้อนี้ขึ้นฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปคือข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้นายเสนีย์ วาทิน ฟ้องคดีนี้เคลือบคลุม คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้นายเสนีย์ วาทิน ฟ้องคดีแทนโจทก์ว่าโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2517 ประธานกรรมการได้ลงนามมอบอำนาจให้นายเสนีย์ วาทิน ผู้จัดการฝ่ายนิติการมีอำนาจกระทำกิจการแทนธนาคารหรือในนามของธนาคารได้ ตามภาพถ่ายหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง และตามคำฟ้องก็ระบุว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดโดยนายเสนีย์ วาทิน ผู้จัดการฝ่ายนิติการผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงย่อมเห็นได้ชัดว่านายเสนีย์ วาทิน เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีนี้ในฐานะผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้เท่านั้น และเมื่อพิเคราะห์หนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.6 กับหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ประกอบกันแล้วก็ฟังเข้าใจได้ชัดเจนว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้มอบอำนาจให้นายเสนีย์ วาทินฟ้องคดีนี้ แทนธนาคารโจทก์หรือในนามของธนาคารโจทก์ มิได้มีข้อเคลือบคลุมหรือสงสัยอย่างใด ในเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่เป็นสภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับซึ่งจะต้องบรรยายในคำฟ้องให้ชัดแจ้งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่บรรยายให้ชัดแจ้งถึงมติของที่ประชุมคณะกรรมการโจทก์ที่ให้อำนาจประธานกรรมการโจทก์มีอำนาจในการมอบอำนาจให้นายเสนีย์ วาทิน ฟ้องคดีนี้เพียงไรดังจำเลยฎีกา ฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปคือข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงหรือออกหรือขายตั๋วสัญญาใช้เงินมูลค่า 2,250,000 บาทให้โจทก์ และไม่เคยทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวกับบันทึกต่อท้ายหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น โจทก์มีนายสรชัย นิลวรรณ ผู้จัดการฝ่ายเลขาธิการของโจทก์ นายประวิทย์ พานิชหัวหน้าแผนกตั๋วสัญญาใช้เงินของโจทก์ และนายปรีชา สุมาวงศ์ เป็นพยานเบิกความประกอบกันรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มาทำความตกลงชำระหนี้แทนบริษัทโชคชัยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน 2,250,000 บาท ให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 553/69 ตามเอกสารหมาย จ.2 ขายให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล แล้วจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ให้โจทก์ไว้ด้วยนอกจากนี้นายประวิทย์ พานิช ได้เบิกความประกอบแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.5 ว่า พยานเป็นผู้มอบเช็คเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งสั่งจ่ายเงิน 2,250,000 บาทของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แล้ว ซึ่งจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คเอกสารหมาย จ.5 มีจำนวนตรงกับจำนวนในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 ด้วย ทั้งในเอกสารหมาย จ.2 ก็มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และลายมือชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล และในเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ก็มีลายมือชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายตั๋วสัญญาใช้เงินและเป็นผู้รับอาวัลตามลำดับ ซึ่งลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ และจำเลยทั้งสองก็นำสืบเพียงว่า ลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2, จ.3 และ จ.4 ไม่เหมือนลายมือชื่อจำเลยที่ 1 และว่าปกติถ้าเอกสารเป็นภาษาไทย จำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ จำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งมิใช่เป็นการยืนยันว่าลายมือดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 แต่ประการใด ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าลายมือชื่อผู้รับอาวัลไม่ใช่ลายมือชื่อของตนแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2, จ.3 และ จ.4 เป็นลายมือชื่อของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้สลักหลังเช็คเอกสารหมาย จ.5 ของโจทก์ซึ่งนายประวิทย์ พานิชมอบให้จำเลยที่ 1 ตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งมีจำนวนเงินตรงกับจำนวนเงินในตั๋วสัญญาใช้เงินให้กับโจทก์อีกทีหนึ่ง ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินไปแล้ว คดีรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล และจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญารับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ให้ไว้กับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่ขายตั๋วสัญญาใช้เงินไปจากโจทก์แล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปคือข้อฎีกาของจำเลยที่ว่า ตั๋วสัญญาใช้เงิน หนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินกับบันทึกต่อท้ายหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นโมฆะ เพราะมีข้อความซึ่งเป็นสารสำคัญแห่งตราสาร คือวันกำหนดใช้เงินแตกต่างกัน ได้พิเคราะห์แล้ว ในเรื่องกำหนดวันใช้เงินนี้กฎหมายประสงค์ให้ถืออาวัลที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นสำคัญและตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.2 ได้กำหนดวันใช้เงินเมื่อครบกำหนด 1,460 วัน นับตั้งแต่วันที่ในตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ จำเลยที่ 1 สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน 2,250,000บาทให้แก่โจทก์ ซึ่งตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนี้โจทก์จะบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ต่อเมื่อครบ 1,460 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2512 และคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ส่วนการที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.3ก็เป็นการรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการคิดดอกเบี้ยเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับรู้ตกลงด้วยถ้าหากโจทก์ผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ส่วนเอกสารหมาย จ.4 เป็นการกำหนดงวดการชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยแบ่งชำระเป็น 4 งวดตามที่ระบุไว้และกำหนดเรื่องดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไม่ชำระเงินตามกำหนด ซึ่งกำหนดวันใช้เงินนี้ก็อยู่ภายในกำหนด 1,460 วัน ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั่นเอง ไม่มีข้อความใดในเอกสารดังกล่าวที่เกี่ยวกับวันถึงกำหนดใช้เงินแตกต่างกันและขัดกันแต่ประการใด เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะแต่ประการใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไป คือข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์

ปัญหานี้ เห็นว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.2 เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่สัญญาว่าจะใช้เงินเมื่อครบกำหนด 1,460 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม2512 หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนี้จึงมีกำหนดเวลาชำระแน่นอนอยู่แล้ว โจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวทวงถามอีก แม้ว่าจำเลยทั้งสองจะไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์ดังที่ฎีกามา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีก

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นข้อสุดท้ายคือ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามตั๋วสัญญาใช้เงินหมาย จ.2 ได้กำหนดให้ใช้เงินเมื่อครบกำหนด1,460 วันนับตั้งแต่วันที่ในตั๋วสัญญาใช้เงินคือวันที่ 1 สิงหาคม 2512 ซึ่งครบกำหนดใช้เงินวันที่ 1 สิงหาคม 2516 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน2517 ยังไม่พ้นกำหนด 3 ปีนับตั้งแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 ประกอบด้วยมาตรา 940คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,250,000บาทให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2516 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาโดยกำหนดค่าทนาย 30,000 บาทแทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share