แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สินค้าที่ขนส่งเสียหายและเหตุแห่งการเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 39 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องรับผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง เช่น การบรรจุหีบห่อ ไม่มั่นคงแข็งแรง หรือไม่เหมาะสมกับสภาพแห่งของหรือการเสียหายนั้นเกิดจากสภาพแห่งของนั้นเองตามมาตรา 52(9) และ (10)จำเลยที่ 1 นำสืบว่าได้บันทึกข้อสงวนไว้ในใบตราส่งแต่ไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าการเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลมาจากการบรรจุหีบห่อไม่ดีหรือไม่เหมาะสมกับสภาพแห่งของหรือการเสียหายนั้นเกิดจากสภาพแห่งของนั้นเองหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าแผ่นเหล็กรีดเย็นในคอยลส์แต่ปรากฏว่าแผ่นเหล็กรีดเย็นในคอยลส์ เกิดสนิม เพราะได้รับความชื้นหรือเปียกน้ำระหว่างการขนส่งทางทะเลของจำเลยที่ 1 หรือในระหว่างการขนส่งทางน้ำและทางบกของจำเลยที่ 2 จำนวน 6 ม้วน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมจำนวน 568,461 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่เรือลำเลียงซึ่งเป็นตัวแทนของผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว ความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 อีกทั้งสินค้าดังกล่าวก็ไม่ได้รับการบรรจุหีบห่อที่เหมาะสมกับสภาพของสินค้าซึ่งเป็นเหล็กอาจทำให้สินค้าได้รับความเสียหายหรือเกิดสนิมในระหว่างการขนส่งได้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ต้องรับผิดตามคำฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าแผ่นเหล็กรีดเย็นในคอยลส์ จำนวน 150 ม้วนให้แก่บริษัทเอ็น.เอช.เค.สตีล จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากบริษัทผู้ขายในประเทศสิงคโปร์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล ลงวันที่ 16 มกราคม 2539เอกสารหมาย จ.6 และผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้านั้นมาทางเรือชื่ออัลมาร์จากเมืองแอนท์เวิร์ป ท่าเรือยุโรปตะวันตกมายังกรุงเทพมหานครเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2539 เรืออัลมาร์มาถึงท่าเรือเกาะสีชัง ได้มีการขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งจากเรืออัลมาร์ลงเรือไลต์เตอร์หรือเรือลำเลียงไปที่ท่าเรือศรีกรุงธน เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครแล้วนำสินค้านั้นขึ้นรถบรรทุกไปที่โกดังของผู้ซื้อ ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวขึ้นสนิมจำนวน 6 ม้วน โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัย และขายสินค้าที่ขนส่งที่เสียหายให้แก่บุคคลอื่นไปในราคา 351,178 บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าที่ขนส่งได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสองหรือไม่เห็นว่า โจทก์มีนายศักดิ์ชาย ไชยศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทนของโจทก์มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าที่ขนส่งจากผู้ส่งของแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้โดยรับรองว่าสินค้าดังกล่าวอยู่ในสภาพเรียบร้อยหรือ CLEAN ON BOARD ตามสำเนาใบตราส่งพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.8 นายสมพงษ์ จันทร์น้อย ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทอินช์เคป ชิปปิ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด(Inchcape Shipping Services (Thailand) Limited) ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงยอมรับว่า สภาพภายนอกของสินค้าดังกล่าวได้หีบห่อมาเรียบร้อยสมบูรณ์ไม่มีความเสียหาย แต่เมื่อสินค้าที่ขนส่งมาถึงท่าเรือเกาะสีชังนายชาติชาย เนตรสว่าง พนักงานสำรวจความเสียหายและนายย๊อกเถียน ลิ้ม กรรมการผู้จัดการบริษัทเจพีแอล แอดจัสติ้ง เซอร์วิส จำกัด ซึ่งโจทก์ว่าจ้างให้สำรวจความเสียหายสินค้าดังกล่าวเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า นายชาติชาย ได้เดินทางไปสำรวจความเสียหายที่เรืออัลมาร์และพบว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นสนิมที่ด้านนอกแต่การตรวจสอบความเสียหายขณะขนถ่ายสินค้าข้างลำเรือไม่สามารถตรวจสอบโดยละเอียดได้ นายชาติชายจึงตรวจสอบสินค้าดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งที่โกดังสินค้าของผู้รับตราส่ง ปรากฏว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นสนิมจำนวน 6 ม้วน ตามรายงานการสำรวจพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.12 และภาพถ่ายหมาย จ.20 ซึ่งแสดงว่าสินค้าดังกล่าวเกิดสนิมตั้งแต่อยู่ในเรืออัลมาร์แล้ว ที่นายสมพงษ์พยานจำเลยที่ 1 ได้ยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของตนว่าพนักงานของบริษัทอินช์เคป ชิปปิ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทยจำกัด ได้ตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งขณะขนถ่ายสินค้าจากเรืออัลมาร์ลงเรือไลต์เตอร์หรือเรือลำเลียงเช่นกัน แต่ไม่พบความเสียหายตามบันทึกรายงานประจำวันการขนถ่ายสินค้าและใบตรวจนับพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.7 นั้น เห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงรายงานประจำวันเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าและเป็นใบตรวจนับสินค้าที่แสดงว่ามีการขนถ่ายสินค้าจากเรืออัลมาร์ลงเรือไลต์เตอร์หรือเรือลำเลียงเลขที่เท่าไร จำนวนกี่ม้วนเท่านั้น ไม่ใช่รายงานการสำรวจความเสียหายดังที่นายสมพงษ์ยืนยันดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำผู้ทำรายงานดังกล่าวมาเบิกความถึงเรื่องนี้จึงมีน้ำหนักน้อย ส่วนใบรับสินค้าพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 ก็เป็นเพียงหลักฐานการรับมอบสินค้าระหว่างเรืออัลมาร์ กับเรือไลต์เตอร์หรือเรือลำเลียง ไม่ใช่รายงานการสำรวจความเสียหายจึงมีน้ำหนักน้อยเช่นเดียวกับเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.7 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สินค้าที่ขนส่งเสียหายจริงตามคำฟ้องและเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าดังกล่าวได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 สำหรับการขนส่งสินค้าที่ขนส่งจากท่าเรือเกาะสีชังมายังโกดังของผู้รับตราส่งซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความจากรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.12 ว่า เมื่อขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งลงเรือไลด์เตอร์แล้ว เรือไลต์เตอร์มีผ้าใบกันน้ำคลุมสินค้าไว้ตามภาพถ่ายหมาย จ.20 และได้ความจากนายชาติชายตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า การขนถ่ายสินค้าที่ขนส่งทุกระยะไม่มีอุบัติเหตุสินค้าตกหล่น เสียหาย แสดงว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายอยู่แล้วก่อนที่จะขนถ่ายลงเรือลำเลียงข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าสินค้าดังกล่าวเสียหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ระหว่างการขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือเกาะสีชังมายังโกดังของผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าสินค้าที่ขนส่งเสียหายและเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าดังกล่าวได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายนั้นต่อผู้ส่งสินค้าดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องรับผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง เช่น การบรรจุหีบห่อไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่เหมาะสมกับสภาพแห่งของหรือการเสียหายนั้นเกิดจากสภาพแห่งของนั้นเองตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาตรา 52(9) และ (10) ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้บันทึกข้อสงวนไว้ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.8 ว่า “SAID TO CONTAIN”และ “PARTICULARS DECLARED BY SHIPPER OF THE GOODS”ซึ่งนายสมพงษ์ จันทร์น้อย พยานจำเลยที่ 1 ได้อธิบายว่า หมายถึงผู้ขนส่งคือจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นในคอยลส์ เป็นม้วนบรรจุอยู่ภายในเท่านั้นโดยผู้ขนส่งไม่ทราบถึงจำนวนมูลค่า น้ำหนัก คุณภาพ และสภาพของสินค้าดังกล่าวก็ดี ใบตราส่งดังกล่าวได้ระบุเงื่อนไขการขนส่งไว้ด้านหลังใบตราส่งข้อ 25 ว่า สนิม การกลายเป็นออกไซด์ หรือการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เนื่องจากความชื้นซึ่งอาจทำความเสียหายแก่ลักษณะภายนอกของสินค้า ถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การรับสินค้าตามสภาพและเงื่อนไขไม่ได้เป็นการยอมรับว่าสนิม การกลายเป็นออกไซด์จะไม่เกิดขึ้นก็ดี ไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าการเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลมาจากการบรรจุหีบห่อไม่ดีหรือไม่ เหมาะสมกับสภาพแห่งของหรือการเสียหายนั้นเกิดจากสภาพแห่งของนั้นเองหรือไม่ตรงกันข้ามโจทก์มีนายศักดิ์ชาย ไชยศิริ นายย๊อกเถียน ลิ้มและนายชาติชาย เนตรสว่าง เบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานทั้งสามได้ความตรงกันว่า ผู้ส่งของได้บรรจุหีบห่อสินค้าที่ขนส่งโดยเคลือบน้ำมันไว้ที่ตัวสินค้าคือที่แผ่นเหล็กชั้นหนึ่งก่อนแล้วห่อหุ้มด้วยกระดาษสีน้ำตาลเคลือบน้ำมัน จากนั้นจะหุ้มด้วยแผ่นสังกะสีและมีแผ่นเหล็กรัดแผ่นสังกะสีอีกชั้นหนึ่ง การบรรจุหีบห่อดังกล่าวสามารถกันการกระแทกและป้องกันไม่ให้แผ่นเหล็กทำปฏิกิริยาความชื้นในอากาศตามปกติได้ นายย๊อกเถียง ลิ้ม ยืนยันด้วยว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นเหล็กขาวรีดเย็นในคอยลส์ ไม่ใช่เหล็กดำ จะไม่เกิดสนิมขึ้นเองหากไม่มีปัจจัยภายนอกคือน้ำมาสัมผัสกับแผ่นเหล็กดังกล่าวซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายศักดิ์ชายที่สังเกตเห็นขี้เกลือที่วัสดุห่อหุ้มสินค้าที่ขนส่ง และรับกับรายงานการสำรวจของนายชาติชายที่ให้ความเห็นว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสนิมเพราะถูกน้ำในระหว่างการขนส่งตามเอกสารหมาย จ.12 นอกจากนี้สินค้าที่ขนส่งมีจำนวนถึง 150 ม้วน แต่เกิดเป็นสนิมจำนวนเพียง 6 ม้วน และม้วนที่เกิดสนิมก็เป็นสนิมเพียงบางส่วน โดยนายศักดิ์ชายได้เบิกความถึงเรื่องนี้ว่าแผ่นเหล็กตรงที่เป็นสนิมจะมีน้ำมันเคลือบอยู่เล็กน้อยหรือไม่มีน้ำมันเคลือบอยู่เลย เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะน้ำมันถูกน้ำชะล้างออกไป ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวว่าผู้ส่งของได้บรรจุหีบห่อสินค้าอย่างดีและเหมาะสมกับสภาพแห่งสินค้านั้นแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากสภาพแห่งสินค้านั้นเองจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าดังกล่าว เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้านั้นได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเลเอกสารหมาย จ.6 โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ผู้ขนส่งรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งได้ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาสำหรับจำเลยที่ 1 นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 531,894 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่11 มีนาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 36,567 บาท ตามคำฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง