คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 13 ปีเศษ น่าเชื่อว่ามีความรู้สึกผิดชอบแล้ว ซึ่งก่อนเกิดเหตุเคยไปนอนค้างที่บ้านพี่สาวจำเลย เนื่องจากกลัวผู้เสียหายที่ 2 จึงไม่กล้ากลับบ้านหลังจากนั้น 3 ถึง 4 วัน ผู้เสียหายที่ 1 กลับไปบ้านแล้วกลับมาอยู่กับพี่สาวจำเลยและนอนค้างคืน ที่บ้านมารดาจำเลยอีกจนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 พาเจ้าพนักงาน ตำรวจไปจับจำเลยขณะผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยอยู่ภายในบ้าน น่าเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้าน พี่สาวจำเลยและบ้านมารดาจำเลยเอง หาใช่ถูกจำเลยหลอกลวง พาไปอยู่ด้วยกันไม่ แม้จะปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เคยไปตาม ผู้เสียหายที่ 1 กลับมาอยู่ที่บ้านและอยู่ในอำนาจปกครอง ของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว แต่ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ก็กลับไปอยู่กับจำเลยอีก ฟังไม่ได้ว่าจำเลยโดยปราศจากเหตุ อันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดาผู้ดูแล จำเลยไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคท้ายเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91ความผิดฐานกระทำชำเราหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ให้จำคุก 5 ปีความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลสองกระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 15 ปีจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78คงจำคุก 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงดารารัตน์ เวียงภักดิ์ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 13 ปีเศษ เป็นบุตรนายสุมินทร์ เวียงภักดิ์ผู้เสียหายที่ 2 กับนางเป้า ชัยนอก ผู้เสียหายที่ 2เป็นผู้ปกครองและดูแลผู้เสียหายที่ 1 วันที่ 6 พฤษภาคม 2539เวลาประมาณ 12 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ถูกส่งตัวไปให้แพทย์ตรวจร่างกายผลปรากฏว่าไม่พบบาดแผลที่อวัยวะเพศและช่องคลอดไม่พบเชื้ออสุจิแพทย์ผู้ตรวจมีความเห็นว่าไม่พบหลักฐานการกระทำชำเราตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาเรื่องข่มขืนกระทำชำเรานั้น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีข้อน่าสงสัยตามสมควรจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
ส่วนปัญหาเรื่องพรากผู้เยาว์นั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 13 ปีเศษ น่าเชื่อว่ามีความรู้สึกผิดชอบแล้วทั้งปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่าก่อนเกิดเหตุเคยไปนอนค้างที่บ้านพี่สาวจำเลย เนื่องจากกลัวผู้เสียหายที่ 2จึงไม่กล้ากลับบ้าน หลังจากนั้น 3 ถึง 4 วัน ผู้เสียหายที่ 1กลับไปบ้านแล้วกลับมาอยู่กับพี่สาวจำเลยและนอนค้างคืนที่บ้านมารดาจำเลยอีกจนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยขณะผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยอยู่ภายในบ้านข้อเท็จจริงดังกล่าวน่าเชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 ไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านพี่สาวจำเลยและบ้านมารดาจำเลยเอง หาใช่ถูกจำเลยหลอกลวงพาไปอยู่ด้วยกันไม่ แม้จะปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เคยไปตามผู้เสียหายที่ 1 กลับมาอยู่ที่บ้าน และอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปอยู่กับจำเลยอีกก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายที่ 1อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาผู้ดูแล จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share